วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

7-8 กค 56 คณะทำงานลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการนำร่อง (งานทาสีอาคาร)

เมื่อวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2556 คณะทำงานได้ลงพื้นที่ เพื่อติตดามความก้าวหน้าโครงการนำร่อง ใน โครงการปรับปรุงรูปแบบ (ทาสี) เรือนร้านค้าและอาคารพาณิชย์ ซึ่งการทำงานทาสีเป็นการใช้ช่างฝีมือภายในชุมชน และเป็นการคัดเลือกอาคารที่มีคุณค่าทั้งเรือนพักอาศัยและอาคารพาณิชย์ โดยมติของคณะกรรมการชุมชนเอง จากการประชุม พบว่า การทำงานมีปัญหาจากสภาพฝนตกชุก และการทาสีที่กระทบต่อการค้าขายของเรือนร้านค้าบางหลังที่ไม่มีวันหยุด ทำให้การทำงานล่าช้า


ประชุมติดตามความก้าวหน้าร่วมกับคณะกรรมการชุมชน




งานทาสีบ้านพักอาศัยไม้ จำนวน  1 หลัง (อ.กานดา เจ้าของบ้าน)
ปัจจุบันดำเนินการทาสีแล้วเสร็จ



งานทาสีอาคารพาณิชย์ จำนวน 4 คูหา (ร้านคุรุมิตร และร้านสินเจริญ)
ปัจจุบันดำเนินการทาสีแล้วเสร็จ



งานทาสีอาคารพาณิชย์ จำนวน 4 คูหา (ร้านคุณใจ ร้านศรีมงคลชัย 2 และสำนักงานนิ่มซี่เส็ง)
ปัจจุบันดำเนินการทาสีแล้วเสร็จ





งานทาสีเรือนร้านค้าไม้ ร้านแสงจันทร์ จำนวน  1 หลัง
ปัจจุบันดำเนินการทาสีแล้วเสร็จ



งานทาสีเรือนแถวไม้ จำนวน  4 คูหา
ปัจจุบันทาสีด้านหน้าแล้วเสร็จ คงค้างด้านถนนซอย เนื่องจากรอให้ทางโรงแรมเคลื่อนย้ายป้ายโฆษณา
 
 
 
งานทาสีอาคารพาณิชย์ จำนวน 5 คูหา (ร้านบ.ไบท์ และร้านบำรุงศิลป์)
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการทาสี แต่ล่าช้าเนื่องจากเปิดจำหน่ายสินค้าทุกวัน โดยไม่มีวันหยุด















วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

การประชุมร่วมกับคณะกรรมการชุมชนหัวเวียงใต้ 5-6 มกราคม 2556

 
ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (5 – 6 มกราคม 2556) คณะทำงานได้ลงพื้นที่หัวเวียงใต้ เพื่อประสานงานและติดตามความก้าวหน้าในการวางแผนงานร่วมกับของคณะกรรมการชุมชนหัวเวียงใต้
 
  เข้าพบพูดคุยเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ
โดยในวันเสาร์ที่ 5 มกราคม ตอนบ่าย ได้เข้าพบคุณบุญโชติ สลีอ่อน และกรรมการบางส่วนที่วัดหัวเวียงใต้ โดยขอพบและพูดคุยสั้นๆเกี่ยวกับประเด็นที่จะพูดคุยกันในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากชาวบ้านกำลังเตรียมจัดงานถนนคนเดินที่จะมีงานในเย็นวันนี้ และบางส่วนกำลังเร่งรีบจัดเตรียมงานวันเด็กสำหรับเด็กและเยาวชนหัวเวียงใต้ ที่จะจัดกิจกรรมในวันพรุ่งนี้
บรรยากาศถนนคนเดินที่คึกคักบนถนนสุมนเทวราช
การแสดงพื้นบ้านและแสงไฟยามค่ำคืนหน้าวัดหัวเวียงใต้
             ในวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2555 เวลา 10.00 น. ณ ศาลาเทพประชานุสรณ์ วัดหัวเวียงใต้ คณะทำงานได้จัดประชุมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อวางแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างนำร่องในพื้นที่วิจัย ตามแผนปรับปรุงสภาพแวดล้อมภูมิทัศน์ย่านชุมชนหัวเวียงใต้ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่
1.       โครงการปรับปรุงรูปแบบ (ทาสี) เรือนร้านค้าและอาคารพาณิชย์
2.       โครงการออกแบบ ติดตั้งป้ายประวัติและแผนที่ชุมชนหัวเวียงใต้
3.       โครงการปูวัสดุพื้นผิวถนนซอยข้างวัดหัวเวียงใต้
4.       โครงการปรับปรุงรั้วสีเขียวและงานทาสีรั้ว (ในซอย 5)
คณะทำงานได้ชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการดำเนินงานสูงสุด รวมทั้งเกิดความเข้าใจและนำไปขยายผลร่วมกัน มีการกำหนดผู้รับผิดชอบและกรรมการติดตามตรวจสอบแต่ละโครงการอย่างชัดเจน โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการโครงการที่ดี ทั้งในเรื่องงาน งบประมาณ และระยะเวลา
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อห่วงใย เกี่ยวกับการดำเนินงานของชุมชน ทั้งในเรื่องการคัดเลือกผู้รับผิดชอบงานส่วนต่างๆที่ชาวบ้านให้การยอมรับ แผนการทำงานซึ่งอาจต้องมีการเหลื่อมเวลาที่ซ้ำซ้อนกับกิจกรรมอื่น ลักษณะงานที่ชาวบ้านในชุมชนไม่มีช่างฝีมือ ผลกระทบที่ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า เช่น การทาสีที่กระทบต่อการเปิดกิจการของร้านค้าต่างๆ ฯลฯ และปัญหาการขึ้นค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาท ที่จะกระทบต่อปริมาณงานของแต่ละโครงการ เนื่องจากเป็นประมาณการงบประมาณตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ที่ประชุม จึงขอให้คณะกรรมการชุมชนได้ประชุมหารือกันในชุมชนก่อน และจะได้นำเสนอรายละเอียดแผนการทำงานทั้งหมด ให้คณะทำงานและการเคหะแห่งชาติได้ทราบต่อไป
 พูดคุยเบื้องต้นก่อนเริ่มการประชุมอย่างเป็นทางการ
 
 บรรยากาศการประชุมอย่างเป็นทางการ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

งานประชาคม ครั้งที่ 3 ณ วัดหัวเวียงใต้


 เวทีประชาคมครั้งที่ 3 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555 ระหว่างเวลา 18.00 - 21.00 . ณ ศาลาเทพประชานุสรณ์ วัดหัวเวียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
          (1) นำเสนอแผนพัฒนาและรูปแบบผังทางด้านกายภาพที่มีรายละเอียดโครงการซึ่งพร้อมจะนำไปสู่การปฎิบัติ
          (2) หาแนวทางในการผลักดัน แผน ผัง และรูปแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่ไปดำเนินการจัดทำร่วมกันให้เกิดเป็นรูปธรรม
       ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยภาคี 4 ภาคส่วนทั้งในพื้นที่และภายนอก ได้แก่ ตัวแทนภาคราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการท้องถิ่น ภาคประชาสังคม/องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคสื่อมวลชน ชาวชุมชนย่านหัวเวียงใต้ และการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งเชิญชวน ผู้พักอาศัยย่านหัวเวียงใต้ ประชาชนผู้สนใจทั่วไป ผ่านผู้นำชุมชน และสื่อวิทยุท้องถิ่น/ชุมชน รวมประมาณ 80 คน มีการจัดแสดงนิทรรศการและฉายวีดิทัศน์ความเคลื่อนไหวของโครงการที่ผ่านมาให้ผู้เข้าร่วมเวทีประชาคมได้ชม ในช่วงการเตรียมการจัดเวทีประชาคมครั้งที่ 3 คณะผู้วิจัยได้หารือแนวทางการจัดดำเนินการร่วมกับหัวหน้าบ้านชุมชนหัวเวียงใต้ นายบุญโชติ สลีอ่อน และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกค้อ รวม 25 ท่าน เพื่อให้ชุมชนแสดงบทบาทการเป็นเจ้าภาพและร่วมดำเนินงานมากขึ้น
นายบุญยัง เรือนกุล นายอำเภอเมืองน่าน
 
นางสุวมา เนาว์สูงเนิน
ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการทางสังคม ฝ่ายการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง
 
        การประชุมครั้งนี้มี นายบุญยัง เรือนกุล นายอำเภอเมืองน่าน และตัวแทนจากการเคหะแห่งชาติ นางสุวมา เนาว์สูงเนิน ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการทางสังคม ฝ่ายการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม จากนั้น นายพงษ์สิน ทวีเพชร หัวหน้าโครงการฯ ทบทวนภารกิจที่ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มต้น และนำเสนอ “แผน ผัง และรูปแบบเพื่อการพัฒนาพื้นที่โครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาค ชุมชนเมืองน่าน” ใน 4 ประเด็นหลัก คือ
              1.     แผนงานรูปแบบรายละเอียดวัสดุ สถานที่
              2.     การจัดบริหารจัดการ: จัดตั้งกลุ่มกรรมการในชุมชน ใคร ทำอะไร และกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละโครงการ/กิจกรรม
              3.     การดำเนินงานก่อสร้าง: ออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา จัดซื้อ จัดจ้าง การควบคุมงาน
              4.     การตรวจรับงาน

ในงานการออกแบบและปรับปรุงกายภาพ ได้ระบุแผนงานที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้ปรากฏเป็นรูปธรรมก่อนสิ้นสุดโครงการ มีพื้นที่ค้อกลางเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งได้จากการทำเวทีประชาคมที่ผ่ามมา 2 ครั้ง และจากการรับฟังข้อหารือจากภาคีทุกภาคส่วนในการเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงทางด้านกายภาพ และแนวทางแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว อัคคีภัย ถนนซอยขนาดเล็ก รวมทั้งการเตรียมป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอื่นที่จะส่งผลกระทบต่อเมือง   โดยบูรณาการแผนงานงานร่วมกับภาครัฐและท้องถิ่น อาทิ เทศบาลเมืองน่าน พาณิชย์จังหวัดน่าน ประกอบแผนงาน 7 รายการ ดังนี้
     1.   งานปรับปรุงรูปแบบ (ทาสี ) เรือนร้านค้า อาคารพาณิชย์
     2.   งานปูวัสดุผิวถนนซอยชุมชนค้อกลาง
     3.   งานปรับปรุงภูมิทัศน์และงานรั้วสีเขียว
     4.   งานป้ายประวัติศาสตร์ชุมชน
     5.   งานปรับปรุงทางเดินเท้าหน้าวัดหัวเวียงใต้-ถนนซอย
     6.   งานกระถางไม้ประดับ
     7.   งานผ้าใบบังแดดอาคาร


สำหรับในครั้งนี้ คณะวิจัยต้องการให้ที่ประชุมพิจารณารายละเอียดแผนงาน 4 รายการ ในลำดับที่ 1- 4  และหาแนวทางในการบริหารจัดการดำเนินงานให้ยั่งยืน โดยแผนงานทั้ง 4 มี มทร.ล้านนารับผิดชอบเป็นผู้ออกแบบ จัดซื้อ จัดจ้าง และจะประสานความร่วมมือในการดำเนินงานกับคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ คาดหวังว่าความสำเร็จของโครงการนี้จะนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อให้พื้นที่อื่นได้เรียนรู้ดูงานต่อไป ส่วนการบูรณาการแผนงานร่วมกับท้องถิ่นจะร่วมกับเทศบาลเมืองน่านดำเนินการตามแผนงานงานปรับปรุงทางเดินเท้าหน้าวัดหัวเวียงใต้-ถนนซอย (รายการที่ 5) โดย นายสุรพล  เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน แสดงความเห็นว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดการรักษาตัวตนและความเป็นเมืองเก่าให้มีชีวิต และสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดแก่ชาวน่าน จึงเห็นควรว่าจะขอรับไปทำความเข้าใจกับสมาชิกสภาเทศบาลเมืองน่าน เพื่อพิจารณาขอจัดสรรงบประมาณปี 2556 ต่อไป ส่วนการร่วมกับหน่วยราชการจะร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและตัวแทนผู้ประกอบการย่านถนนสุมนเทวราชในงานกระถางไม้ประดับ และงานผ้าใบบังแดดอาคาร (รายการที่ 6-7)  โดย นายภาณุ  ขันธ์แก้ว พาณิชย์จังหวัดน่าน ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุน จำนวน 500,000 บาท ไว้รองรับ และมีความเห็นว่าแบบอาคารย่านหัวเวียงใต้ไม่ควรจะอนุญาตให้มีการก่อสร้างที่ทำให้เกิดทัศนอุจาด  ทั้งนี้ ตามแนวทางการชี้แนะของบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ซึ่งมีความเห็นว่าชุมชนต้องชัดเจนเรื่องกรอบคิดการพัฒนาเมืองเพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาข้อขัดแย้งในการของบประมาณ ในที่ประชุมกลุ่มย่อยเพิ่มเติมระหว่างคณะผู้วิจัยร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ตัวแทนภาครัฐ ชุมชน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
              นอกจากนี้ นายกนกศักดิ์  กองสาสนะ ตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ ได้บอกเล่าแนวทางการบริหารจัดการซึ่งขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ที่มีความเข้มแข็งจำนวน 25 ท่าน ทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองแผนงาน การดำเนินการต่อจากคณะวิจัย โดยเฉพาะแผนงานรายการที่ 1- 4 ของ มทร.ล้านนา ที่จะดำเนินงานลงมือทำในขั้นตอนต่อไปให้เห็นเป็นรูปธรรม

ในช่วงท้ายของการประชุมได้เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการท้องถิ่น ภาครัฐ เจ้าอาวาสวัดหัวเวียงใต้ได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการขั้นต่อไปรวมทั้งต่อการพัฒนาเมืองน่านโดยรวม สรุปประเด็นสำคัญดังนี้ 
·        ศักยภาพ ความเข้มแข็งของชาวน่าน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การเคหะแห่งชาติเข้ามาผลักดันต่อยอดแผนการดำเนินงานจากแผนงานเดิมให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม แต่สิ่งสำคัญคือชุมชนควรลงมือทำด้วยตัวเองในทันทีบนฐาน “ความเป็นคนน่าน” ซึ่งเราต้องช่วยกันหาว่าสิ่งนี้คืออะไร มีความแตกต่างที่ไม่เหมือนที่อื่นอย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
·        บทบาทของคณะกรรมการพัฒนาชุมชนฯ ต่อจากนี้ไปต้องทำงานหนักเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนที่จะดำเนินการให้ถูกเวลา ถูกสถานที่ ถูกเรื่อง ซึ่งหมายถึงการทำให้เกิดการใช้งบประมาณที่สมประโยชน์ ทั้งพื้นที่ถนนสุมนเทวราชและพื้นที่ซอยตามที่นักวิชาการได้นำเสนอ ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาชุมชนฯ ต้องสร้างความเป็นเอกภาพ และให้ชุมชนมีความตระหนักและสำนึกเห็นความสำคัญของบ้านเก่า คือให้เกิดการรู้ เข้าใจ เชื่อ และศรัทธา และลงมือทำทันทีอย่างต่อเนื่อง
·        ภาระกิจอื่นของคณะกรรมการพัฒนาชุมชนฯ ที่ต้องดำเนินงานต่อไปมีอีกมากมายทั้งเรื่อง การปรับปรุงภูมิทัศน์ของวัดหัวเวียงใต้ การจัดทำพิพิธภัณฑ์ของเก่าในวัดหัวเวียงใต้
·        ถนนคนเดินเป็นการจัดงานเพื่อสร้างจุดขายแก่เมืองด้านการท่องเที่ยว และยังสามารถเป็นสถานที่พักผ่อนแก่ชาวเมือง แต่การดำเนินการควรจัดให้เป็นมาตราฐาน มีความแน่นอนชัดเจน และมาจากการหารือร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่สร้างความสับสนในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพราะต้องมีความแน่นอน ชัดเจน ที่สำคัญควรมีการสรุปบทเรียน (AAR) ทันทีหลังเสร็จกิจกรรม เพื่อนำมาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น และมีกระบวนการติดตามประเมินผลการทำงานทั้งโดยคนในและคนนอกพื้นที่
·        ประเด็นการเป็นเมืองมรดกโลกของเมืองน่านอาจกลายเป็นเรื่องน่าวิตก หากการเป็นมรดกโลกมีระเบียบ ข้อจำกัดที่กระทบต่อวิถีชีวิตของคนมากกว่าการเป็นเมืองเก่าที่มีความยืดหยุ่นและทำให้คนเมืองอยู่ได้อย่างสบายใจ
·        สิ่งที่เรากำลังทำขณะนี้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายใหญ่ ทั้งเรื่องความเป็นมรดกโลก เมืองเก่า งานวิจัยครั้งนี้จึงไม่ได้จบที่แผนงาน แต่จบที่การปฎิบัติการ การทำให้เกิดสิ่งใหม่ต้องทำให้สอดคล้องกับความเป็นมรดกโลก เชื่อมโยงกับกระแสโลก ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญใน 2 เรื่องคือ เอกลักษณ์ (Identity) และ ความหลากหลาย (Diversity) ความเป็นของแท้ ซึ่งในการดำเนินงานต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความสอดคล้อง และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยสรุป ตัวแทนแต่ละภาคส่วนมีความภาคภูมิใจในต้นทุนความเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของถนนสุมนเทวราช เพราะเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรที่มีสถานที่ที่มีคุณค่าหลายแห่ง ทั้งชาวจีน เวียดนาม ม่าน และคนเมือง ที่เคยเข้ามาค้าขายซึ่งสมควรนำเรื่องราวคำบอกเล่าในการสร้างบ้านแปงเมืองที่มีคุณค่ามาเรียงร้อยให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงสิ่งที่มีในอดีต  ประกอบกับความเข้มแข็งของชุมชนที่มีอยู่เดิม ขณะเดียวกันมีองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมที่ยื่นความจำนงเข้ามาช่วยเหลือและยินดีให้ความร่วมมือในการทำงาน แต่หัวใจสำคัญยังขึ้นกับชุมชนว่าจะมีความเข้มแข็งและดำเนินการต่ออย่างยั่งยืนหรือไม่เพียงใด โดยแนวร่วมที่เป็นเยาวชนเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรชักชวนมาเข้าร่วมให้มากขึ้น      
บทเรียนและข้อเสนอแนะจากการประชุม
1.     คณะกรรมการพัฒนาชุมชนฯ จะเข้ามามีบทบาทในขั้นตอนนี้อย่างมาก ในการผลักดันงานจากระดับล่างขึ้นสู่บนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ซึ่งหัวใจหลักคือการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ชุมชนดำเนินการเป็นงานตัวอย่างนำร่อง
2.     การจัดเวทีประชาคมครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุนและให้คำปรึกษา เพื่อหวังสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของงานให้เกิดแก่คนในชุมชน และเตรียมพร้อมที่จะดำเนินงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย ทำให้ชุมชนและคณะทำงานได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในการเชิญชวนผู้เข้าร่วมงาน สถานที่ ตลอดจนการกำหนดเวลาซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของย่านหัวเวียงใต้ แนวทางการจัดประชุมเช่นนี้น่าจะนำมาใช้ให้มากและถี่ขึ้นในโอกาสต่อไป
การผลักดันแผนงานไปสู่รูปธรรมต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือจากคนในพื้นที่โดยเฉพาะความพร้อมของผู้นำชุมชนและคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ชุดใหม่ 25 ท่าน ซึ่งเกิดจากการคัดเลือกของคนภายในชุมชนเอง คณะผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะช่วยให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมได้มากกว่าคณะกรรมการที่มาจากการสมัครใจซึ่งได้แต่งตั้งมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี พลังของการขับเคลื่อนจะเข้มแข็งต่อเนื่องและยั่งยืนเพียงใดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำและการทำงานร่วมกันเป็นทีม (teamwork) ของคนในชุมชนเป็นสำคัญ
 








วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

งานประชาคม ครั้งที่ 2 ณ อาคารศาลเจ้าปุงเถ่ากง

    

     เวทีประชาคมครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2555 ณ อาคารศาลเจ้าปุงเถ่ากง บนถนนสุมนเทวราช ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่ใจกลางย่านชุมชนและเดินทางเข้าถึงได้ง่าย การจัดประชาคมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) นำเสนอร่างแผนการพัฒนา ผังแนวความคิด (Action area concept plan) และข้อเสนอแนะการออกแบบ (Design Guidelines) สำหรับการฟื้นฟูชุมชนย่านหัวเวียงใต้
(2) รับฟังความคิดเห็นและหามติร่วมในการนำแผนและผังสู่การปฏิบัติ
(3) หาข้อสรุปและจัดลำดับความสำคัญในการผลักดันแผนให้เป็นรูปธรรม  
ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยภาคี 4 ภาคส่วนทั้งในและนอกพื้นที่ชุมชนหัวเวียงใต้ ประมาณ 80 คน โดยภาคส่วนที่เข้าร่วมมากที่สุด คือภาคราชการ

     เนื่องจากการดำเนินงานโครงการนับตั้งแต่การประชุมคณะทำงานฟื้นฟูย่านชุมชนหัวเวียงใต้ (เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554) มาจนถึงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 ขาดความต่อเนื่องเพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ สถานการณ์การรับรู้ของชาวชุมชนหัวเวียงใต้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของโครงการฯ อยู่ในวงจำกัด บางค้อยังไม่ทราบถึงการดำเนินโครงการเท่าที่ควร ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการสื่อสารและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่อาจไม่ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ของชุมชนได้ทั้งหมด คณะผู้วิจัยจึงต้องปรับกลยุทธ์โดยก่อนการจัดเวทีประชาคมครั้งที่ 2 ได้จัดเวที “ผ่อนิทรรศการ ซักถามอู้จ๋าการฟื้นฟูเมือง” ขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2555 ณ บริเวณสามแยกซอย 5 ถนนสุมนเทวราช  เพื่อให้ชาวชุมชนหัวเวียงใต้ทั้ง 4 ค้อ รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่ไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับโครงการมาก่อนได้มีพื้นที่พบปะพูดจา ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และรู้ที่มาที่ไปเกี่ยวกับโครงการ ก่อนจะเข้าร่วมเวทีประชาคมครั้งที่ 2 ในวันถัดไป ในงานได้เชิญชวนให้ชาวชุมชนหัวเวียงใต้นำขนม อาหาร และเครื่องดื่มซึ่งเป็นของดีของชุมชนมาร่วมชิมและอู้จ๋าอย่างเป็นกันเอง รวมถึงการแสดงฟ้อนกลองปู่จาของคณะฆ้องกลองเยาวชนบ้านหัวเวียงใต้ ก่อนจะนำเสนอการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนซักถามเกี่ยวกับการฟื้นฟูเมืองและการฟื้นฟูย่านหัวเวียงใต้ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง ภายในงานได้จัดนิทรรศการแผ่นภาพผังแนวความคิดในการฟื้นฟูชุมชนย่านหัวเวียงใต้ให้ผู้ร่วมประชุมได้สำรวจตรวจสอบ และมีคณะผู้วิจัยคอยทำหน้าที่ชี้แจงและอธิบายข้อสงสัย เนื่องจากบางชุดข้อมูลเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่ต้องอาศัยการอธิบายความให้เข้าใจตรงกัน










     เวทีประชาคมครั้งที่ เริ่มต้นด้วยการฉายวีดีทัศน์กิจกรรมความเคลื่อนไหวของโครงการช่วงที่ผ่านมา และเปิดการประชุมโดย นายศักดิ์ชัย จ.ผลิต ปลัดจังหวัดน่าน จากนั้นหัวหน้าโครงการฯ นายพงษ์สิน ทวีเพชร นำเสนอร่างแนวความคิดการฟื้นฟูย่านหัวเวียงใต้ โดยชี้ให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากมีการฟื้นฟูเมือง จะต้องฟื้นฟูกันอย่างไร
แบบไหน อะไรคือสิ่งที่ชาวเมืองควรหลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลัง พร้อมทั้งนำเสนอร่างความคิดต่อไปนี้
1)    การฟื้นฟูพื้นที่นำร่อง (Jack Model) เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ โดยใช้อัตลักษณ์ของเมืองน่านและการอยู่อาศัยเข้ามาผสมผสานให้อยู่ร่วมกันกับลักษณะอาคารแบบดั้งเดิม
2)    การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในย่านหัวเวียงใต้ โดยเฉพาะอาคารที่ทรงคุณค่า
3)    งานปรับปรุงภูมิทัศน์ ถนน และซอยย่านหัวเวียงใต้ เป็นงานออกแบบภูมิทัศน์และงานตกแต่งทางเท้า ถนน รั้ว และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณย่านการค้า
4)    การเลือกใช้สีอาคารในย่านหัวเวียงใต้
5)    แนวทางการออกแบบอาคารใหม่ เช่น การออกแบบป้ายร้าน รายละเอียดเกี่ยวกับประตู หน้าต่าง องค์ประกอบ เรือนไม้ ลักษณะพืชพรรณที่สามารถปลูกได้ในชุมชนเมืองน่าน


คุณศักดิ์ชัย จ.ผลิต ปลัดจังหวัดน่าน
กล่าวเปิดการประชุม



นอกจากนี้ นักวิจัยในโครงการนำเสนอและทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง คุณค่าความเป็นเมืองเก่า-เมืองประวัติศาสตร์ หลักการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านและเมืองเก่า รูปแบบและวิธีการฟื้นฟูเมือง ตลอดจนสาระสำคัญของข้อกำหนด/ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง โดยยกตัวอย่างเมืองในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่มีการใช้ข้อกำหนดเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนเมืองจนทำให้เมืองมีเอกลักษณ์และคงความเป็นอัตลักษณ์ไว้ได้  จากนั้น นำเสนอข้อเสนอแนะการออกแบบ (Design Guidelines) สำหรับพื้นที่เฉพาะชุมชนหัวเวียงใต้ และเปิดรับฟังความคิดเห็น ที่ประชุมมีข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่อผังแนวความคิดและข้อเสนอแนะการออกแบบ ดังนี้
    1) การติดตั้งป้ายโลโก้ของบริษัทห้างร้านที่เป็นสาขาของผู้ประกอบการรายใหญ่จะกระทบต่อทัศนียภาพของเมือง แต่ก็เป็นข้อตกลงทางสัญญาของภาคธุรกิจ แนวทางที่เป็นไปได้ คือ การมีข้อตกลงร่วมภายในชุมชนว่าคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร แล้วผลักดันเป็นข้อเสนอหรือเทศบัญญัติเรื่องการติดตั้งป้ายโฆษณา มีการต่อรองหรือขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ให้สามารถทำตามเงื่อนไขที่ชุมชนเมืองกำหนด
   2) การปลูกต้นไม้ในเมือง เสนอให้มีการปลูกต้นหมาก ซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่น ขณะเดียวกันการปลูกพืชหรือพันธุ์ไม้ใดควรพิจารณาสถานที่ที่จะปลูกด้วยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
   3) ประเด็นความเสี่ยงหรือความท้าทายที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่

     - ปัญหาอัคคีภัยที่จะเกิดขึ้นกับอาคารไม้ ต้องคำนึงถึงเรื่องวัสดุอาคาร เส้นทางการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ และการเตรียมพร้อมของคนในชุมชน เช่น การติดตั้งถังดับเพลิงประจำบ้านแต่ละหลัง      - การเกิดขึ้นของอาคารรูปแบบใหม่ๆ จากกระแสธุรกิจการท่องเที่ยวและความทันสมัย เช่น เกสต์เฮ้าส์ โรงแรม ร้านขายของ ร้านเกมส์

ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่กังวลเรื่องความเป็นไปได้ในการนำร่างดังกล่าวไปใช้จริง ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ
     - การมีคณะทำงานที่ชัดเจน โดยต้องเริ่มต้นจาก “คนใน” ชุมชนหัวเวียงใต้ และมี “คนนอก” คอยให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้
     - การสร้างความต่อเนื่องและสม่ำเสมอของคณะผู้วิจัยทั้งกิจกรรมและการรายงานความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะ เช่น การตั้งวงคุยเรื่องผังแนวคิดที่นำเสนอให้ประชาชนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมในครั้งนี้ได้รับทราบและร่วมแสดงความเห็น
     - ความยาก-ง่ายในการดำเนินการ บางเรื่องสามารถทำได้เองเลยโดยเจ้าของบ้าน หรือทำร่วมกับหนวยงานในท้องถิ่น/จังหวัด โดยผลักดันเสนอเป็นแผนงานที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เช่น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่พาณิชย์จังหวัดน่านกำลังดำเนินการอยู่
     - ศักยภาพ กำลังทรัพย์ และองค์ความรู้ของเจ้าของบ้านหรืออาคารนั้นๆ
แนวทางสู่ความเป็นไปได้เพื่อนำผังแนวความคิดไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีผู้เสนอไว้ดังนี้
      - ชุมชนจะต้องเข้ามามีบทบาท และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ โดยเริ่มต้นจากบ้านของตัวเองก่อน และต้องมีความเข้าใจในโครงการฯ และสิ่งที่ทำอยู่
     - ชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง ซึ่งในขณะนี้ถือเป็นจุดอ่อนของชุมชนหัวเวียงใต้ที่ขาดความเข้มแข็งในระดับหมู่เหล่า (teamwork) แม้ในเชิงปัจเจกจะมีคนเก่งอยู่ไม่น้อยก็ตาม
     - การเชื่อมประสานกันระหว่างแนวคิดและแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยแท้แล้วไม่ได้มีเป้าหมายต่างกันนัก เช่น อพท. พาณิชย์จังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด งานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น   
     - “ความลงตัว” ระหว่างเจ้าของบ้านที่มีกำลังทรัพย์และต้องการฟื้นฟูแต่ขาดความรู้ หรือขาดช่างที่มีความสามารถ จำเป็นต้องชี้ทางหรือสร้างพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้มาพบกัน
     - การจัดทำบ้านตัวอย่างให้เห็น เพื่อสร้างแรงดึงดูด
     - ก่อตั้งคณะทำงานย่านชุมชนหัวเวียงใต้ที่จะลุกขึ้นมาดำเนินการรับผิดชอบอย่างจริงจังแข็งขัน โดยอาจเริ่มต้นจากคณะทำงานที่เป็นผู้นำโดยธรรมชาติจากทุกค้อ ค้อละ 2 คน กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าที่มีส่วนได้เสียโดยตรง และมีที่ปรึกษาที่ให้ความสนใจและร่วมกิจกรรมได้ต่อเนื่อง รวมประมาณ 15-20 คน มีผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาด มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน และคณะทำงานชุดดังกล่าวไม่ต้องมีวาระสิ้นสุด ขอเพียงให้มีความต่อเนื่อง

แนวทางอื่นที่เป็นส่วนประกอบและสามารถทำคู่ขนานกับงานอื่นๆ ได้แก่ การเสริมพลังความเป็นชุมชนจากฐานราก การจัดวงเสวนาพูดคุยและสร้างกลุ่มคนเล็กๆ ให้พร้อมรับหน้าที่เป็นคนทำงานของชุมชน การไปทัศนศึกษาดูการพัฒนาเมืองอื่นๆ การเชิญทุนใหญ่มาหารือกับคนในท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ร่างความคิดดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ได้จริงหรือไม่เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชนเป็นสำคัญ  อีกทั้งเงื่อนไข/อุปสรรคที่ยังมีอยู่ในชุมชน อาทิ
     - การทำความเข้าใจเรื่องผังแนวความคิดและข้อเสนอแนะการออกแบบ    (Design Guidelines) อาจเป็นเรื่องเชิงเทคนิคซึ่งยากต่อความเข้าใจ
     - คนในชุมชนส่วนใหญ่เข้าสู่วัยสูงอายุ และส่วนมากเป็นชุมชนเมืองที่ประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก
     - เจ้าของบ้านยังไม่ออกมาเข้าร่วมโครงการฯ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

บทเรียนและข้อเสนอแนะจากการประชุม
1) แม้จะมีการจัดงาน “ผ่อนิทรรศการ ซักถามอู้จ๋าการฟื้นฟูเมือง” และประชาสัมพันธ์มากขึ้นก็ยังพบว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวชุมชนหัวเวียงใต้ให้ความสำคัญกับการร่วมเวทีน้อยมาก ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมจึงเห็นว่าควรเปิดวงคุยเล็กๆ เป็นกลุ่มๆ ว่าด้วยเรื่องผังแนวคิดเพื่อให้ประชาชนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมในครั้งนี้ได้รับทราบและแสดงความเห็น
2) การพิจารณาดำเนินการเรื่องคณะทำงานฟื้นฟูย่านหัวเวียงใต้ควรเร่งผลักดัน โดยทบทวนรายชื่อคณะทำงานฯ เดิม และเพิ่มเติมรายชื่อใหม่ นัดประชุมและกำหนดบทบาทให้ชัดเจน เพื่อรองรับการทำงานโครงการฯ ที่จะมาถึง
3) ร่างผังแนวความคิดและและข้อเสนอแนะการออกแบบ (Design Guidelines) ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับเรื่องสุนทรียภาพและความงามทางสถาปัตยกรรมเป็นหลัก ควรเพิ่มเติมมิติด้านวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการอยู่อาศัยเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้มากขึ้น
4) การสื่อสารผ่านบุคคลหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเป็นหลักไม่ส่งผลต่อการรับรู้โครงการอย่างทั่วถึง จึงควรพิจารณาหาช่องทางในการสื่อสารประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความเคลื่อนไหวในโครงการในลักษณะที่เข้าถึงคนในชุมชนแต่ละค้อให้มากขึ้น
5) คณะผู้วิจัยควรได้ร่วมกับชาวชุมชนวางแผน เร่งกระตุ้นให้ชาวชุมชนหัวเวียงใต้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูบ้านเมืองของตนเอง และสร้างสำนึกในความเป็นเจ้าของ การ “ฟื้นหัวเวียงน่าน ผ่านมือหมู่เฮา” อย่างจริงจัง