วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เวทีประชาคม ครั้งที่ 1

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โครงการฟื้นหัวเวียงน่าน ผ่านมือหมู่เฮา ได้จัดเวทีประชาคมครั้งที่ 1 ขึ้น โดยนายพงษ์สิน ทวีเพชร หัวหน้าโครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาค ชุมชนเมืองน่าน กล่าวรายงานที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดประชาคมครั้งที่ 1 เพื่อระดมความคิดเห็นของชาวน่านและชาวชุมชนหัวเวียงใต้ และนำความคิดเห็นและข้อสรุปที่ได้ไปพัฒนาร่างผังแนวคิดและแผนการการฟื้นฟูเมืองน่านย่านหัวเวียงใต้ที่เหมาะสม



จากนั้น นายชัยวัฒน์ บูรพาวิจิตรนนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ประธานในพิธีกล่าวต้อนรับคณะผู้วิจัย คณะผู้บริหารจากส่วนราชการต่างๆ ภาคประชาสังคม และชาวชุมชนเมืองน่านที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาค ชุมชนเมืองน่าน ซึ่งการเคหะแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ จัดขึ้น การประชุมครั้งนี้จึงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ช่วยแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่เพื่อให้โครงการได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนและสามารถนำไปทำงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เมืองน่านโดยเฉพาะชุมชนหัวเวียงใต้ได้รับประโยชน์ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์โครงการ



หลังจากนั้น นายพงษ์สิน ทวีเพชร นำเสนอความเป็นมาของโครงการซึ่งต่อเนื่องจากโครงการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับเมือง แผนป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดระดับพื้นที่ จังหวัดน่าน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และเกิดผลรูปธรรมโดยทีมวิจัยได้ผลักดันเรื่องที่อยู่อาศัยในชุมชนบ้าน สถารศให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินการต่อในนามโครงการบ้านมั่นคง นอกจากนี้ มีข้อเสนอที่ชุมชนเมืองน่านเห็นด้วยคืองานฟื้นฟูย่านพาณิชยกรรมชุมชนหัวเวียงใต้ รวมถึงการแก้ปัญหาการบุกรุกแนวกำแพงเมืองในชุมชนภูมินทร์ท่าลี่และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยแผนทั้งสามได้ส่งมอบให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งกคช.ได้ให้เห็นความสำคัญกับเมืองน่านว่าเป็นเมืองที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราะมีความสำคัญเชิงวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นเมืองที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นเมืองที่อยู่อาศัยเชิงคุณภาพ ดังนั้น การเคหะแห่งชาติในส่วนของกองฟื้นฟูเมืองจึงได้คิดพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยเพื่อให้ชุมชนเมืองน่านคิดเรื่องการทำแผนและทำผังกายภาพที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

สาเหตุที่เลือกชุมชนหัวเวียงใต้นอกจากได้เคยเสนอไปแล้วในโครงการก่อนหน้านี้ในชื่อ แผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านพาณิชยกรรม และแผนที่สองคือการจัดทำแผนป้องกันอัคคีภัยเนื่องจากเป็นชุมชนที่มีอาคารไม้ อายุ 30-40 ปีขึ้นไป รวมทั้งปัญหาเรื่องน้ำท่วม และแผนพัฒนาที่ว่างสาธารณะและพื้นที่สีเขียวของชุมชนที่ขาดหายไป เมื่อเทียบความสำคัญของพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตใจเมืองน่านแล้ว ยังพบว่าชุมชนหัวเวียงใต้เป็นพื้นที่กันชนและเชื่อมต่อกับพื้นที่หัวแหวนใจกลางเมืองน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญควรค่าแก่การอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นคุ้มบ้านเก่า วัด โบราณสถาน กำแพง คูน้ำ คันดิน รวมทั้งความเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของชุมชนหัวเวียงใต้แห่งนี้


ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้รับฟังแนวคิดและองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง/ย่าน จาก คุณสาวิตรี ณ หงษา นักวิจัยในโครงการซึ่งเป็นลูกหลานชาวหัวเวียงใต้โดยกำเนิด พร้อมกับนำเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเปิดมุมมองด้านการฟื้นฟูเมืองให้กับชาวเมืองน่าน

หลังจากนั้น เป็นเวทีระดมความเห็น “ฟื้นหัวเวียงน่าน ผ่านมือหมู่เฮา” เพื่อค้นหาว่า อะไร คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำการฟื้นฟูมากที่สุดในชุมชนหัวเวียงใต้ เพราะเหตุใด หากทำการฟื้นฟูแล้ว ใครคือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟู มีพื้นที่ใดเป็น พื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งการระดมความคิดเห็นถึง แนวทางที่จะทำให้การฟื้นฟูนั้นเป็นจริงได้ โดยการตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมว่าแต่ละท่านจะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูนั้นได้อย่างไร กลุ่มคนหรือหน่วยงานใดที่ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และอะไรบ้างคือสิ่งที่กลุ่มคนหรือหน่วยงานนั้นๆ จะให้ความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ กำลังคน วัสดุอุปกรณ์ หรืองบประมาณ ฯลฯ ผลการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทั้ง 4กลุ่มย่อย ซึ่งแบ่งตามคุณลักษณะความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องภายในย่านชุมชนหัวเวียงใต้ มีดังนี้

กลุ่ม 1 ผู้พักอาศัย ภาคประชาชน



กลุ่ม 2 ผู้ประกอบการ ร้านค้า ภาคธุรกิจ



กลุ่ม 3 ประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน



กลุ่ม 4 ราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่น



             สมาชิกทั้ง 4 กลุ่มได้ร่วมแสดงความเห็นและหารือแลกเปลี่ยนถึงสิ่งที่สมควรได้รับการฟื้นฟูมากที่สุดในชุมชนหัวเวียงใต้ ผลปรากฏว่า สิ่งที่ผู้เข้าร่วมต่างให้ความสำคัญมากที่สุดประกอบด้วย 4 โครงการต่อไปนี้
1.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์
2.โครงการฟื้นฟูย่านการค้า
3.โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูอาคารที่มีเอกลักษณ์
4.โครงการจัดระบบการจราจรและที่จอดรถ



ข้อสรุปจากเวทีประชาคมยังถูกนำไปสร้างความเข้าใจให้แจ่มชัดยิ่งขึ้นในวันถัดมา เมื่อหัวหน้าบ้านและตัวแทนชุมชนหัวเวียงใต้ ภาคประชาสังคม รวมทั้งนายกเทศมนตรีเมืองน่านได้เข้าร่วมประชุมหารือกับทีมวิจัยและคณะจากการเคหะแห่งชาติที่วิหารวัดหัวเวียงใต้ต่อ โดยท่านเจ้าอาวาสได้มาเป็นประธานการประชุมและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ชาวชุมชนหัวเวียงใต้ ทำให้แต่ละท่านเห็นเป้าหมายในทางเดียวกัน นั่นคือการพัฒนาการอยู่อาศัยเพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยกระบวนการค้นหาตัวเองและความเป็นเอกลักษณ์ของคนในพื้นที่ อาศัยการทำงานอย่างเป็นบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเมืองน่านอย่างเป็นรูปธรรม


วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

งานเปิดตัวโครงการฟื้นฟูเมืองน่าน

     เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ระหว่างเวลา 16.00 – 20.00 น. คณะผู้วิจัย ได้จัดให้มีการประชุมเตรียมความพร้อมเบื้องต้นเพื่อชี้แจงรายละเอียดและการดำเนินงานโครงการ โดยมุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่างจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยอมรับ และให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โดยได้ใช้สถานที่ภายในวัดหัวเวียงใต้เป็นที่จัดงาน 
วัดหัวเวียงใต้
     เริ่มจากการลงทะเบียนของผู้เข้าร่วมงานที่มาจากภาคราชการและท้องถิ่น ภาคสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ ภาคเอกชนและธุรกิจ ภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนผู้นำชุมชนและตัวแทนชาวบ้านในชุมชนหัวเวียงใต้


                     

บรรยากาศการลงทะเบียนและชมนิทรรศการของโครงการ

     เมื่อถึงเวลา อาจารย์พงษ์สิน ทวีเพชร หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวรายงาน และ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายเกษม วัฒนธรรม ประธานในพิธี ได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พร้อมกล่าวเปิดโครงการและตีฆ้องชัย จำนวน 9 ครั้ง เพื่อเปิดงานอย่างเป็นทางการ


                

     หลังจากนั้น หัวหน้าโครงการ ชี้แจงรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ และแนะนำทีมงาน





      เมื่อทุกฝ่ายเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินงานโครงการแล้ว ก็เข้าสู่การเสวนาอู้จาเรื่องฟื้นฟูเมือง ในหัวข้อ “ฟื้นหัวเวียงใต้ ผ่านมือหมู่เฮา จะเป็นจริงได้จะได?” โดยได้รับเกียรติจากผู้เข้าร่วมเสวนาวึ่งเป็นตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่
·       นายสุรพล  เธียรสูตร  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองน่าน
·       นายแพทย์คณิต ตันติศิริวิทย์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน
·       นายนิคม  บริบูรณ์  หัวหน้าบ้านชุมชนหัวเวียงใต้
·       อาจารย์ภิรมย์  เทพสุคนธ์  ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน  
      และดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์ทักษิณา  ธรรมสถิตย์
 

จากซ้าย : อ.ภิรมย์ เทพสุคนธ์, นายสุรพล เธียรสูตร, นายแพทย์คณิต ตันติศิริวิทย์, นายนิคม บริบูรณ์ และ อ.ทักษิณา ธรรมสถิตย์
 สรุปสาระสำคัญจากผู้ร่วมเสวนา
 

อาจารย์ภิรมย์  เทพสุคนธ์ 
บ้านหัวเวียงใต้ สมัยก่อนมีสองส่วน คือหัวเวียงเหนือ หัวเวียงใต้ สมัยก่อนคนที่มาอยู่ในเมืองน่านก็มักจะมาตั้งรกรากบ้านเรือนที่บ้านหัวเวียงใต้เพราะเป็นย่านการค้า ทั้งผ้า ร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้าจึงมาตั้งรกรากกันที่นี่มาก อดีตแม่น้ำน่านก็ไหลผ่านหน้าวัดหัวเวียงใต้ สินค้าส่วนใหญ่จะมาลงที่บ้านหัวเวียงใต้ สินค้าสำคัญที่สุดก็คือ เกลือ คนที่เอาเกลือมาจะห่อด้วยใบตองจาง (ใบตองเกลือ) หรือปลา อย่างปลาจัง น้ำหนัก 100-200 กิโลกรัม  สะท้อนความเป็นย่านการค้ามาแต่อดีตของที่นี่  ร้านที่ใหญ่ที่สุดเมื่อก่อน เป็นร้านขายยาจีน ร้านแป๊ะจือ (ตรงข้ามวัด) ขายสมุนไพร ยาพื้นเมือง รับซื้อของป่า ตามแนวถนนสุมนเทวราชก็จะมีร้านค้าต่างๆ มากมาย แม้แต่ร้านรับซื้อพืชไร่ แถบนี้มีคนจีนอาศัยอยู่มาก เห็นได้จากศาลเจ้าปุงเถ่ากง รวมทั้งคนต่างชาติ  แม้แต่พระพุทธรูปในวัดหัวเวียงใต้ นี้ก็สร้างเมื่อ พ.ศ.2458 เป็นศิลปะพม่า  สร้างโดยช่างพม่า สองข้างทางถนนสุมนเทวราชสมัยก่อนจะปลูกเป็นต้นลำไย ต้นมะม่วง  ปัจจุบันบ้านหัวเวียงใต้ยังมีบ้านเรือนเก่าๆ อยู่พอสมควร สามารถปรับปรุงเป็นบ้านเก่าที่มีเอกลักษณ์ได้ ส่วนใหญ่ยังเป็นคนพื้นถิ่นอยู่ แต่ในวันข้างหน้าจะมีคนต่างถิ่นย้ายเข้ามาอยู่ ดังนั้น ชุมชนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราสามารถออกแบบ ทำบ้านตามแบบที่เราต้องการได้ อย่างเช่น ป้ายไม้ มีภาษาไทย มีตัวภาษาล้านนากำกับอยู่ หรือมู่ลี่กันแดด เปลี่ยนให้เป็นสีเดียวกันหมด  ส่วนจะเป็นสีอะไรนั้นแล้วแต่ชาวบ้าน หรือสถาปนิกจะเข้ามาช่วยกันคิดออกแบบ  เพื่อให้รู้เลยว่านี่คือย่านการค้าเก่าแก่ แต่ปัญหาคือต่างคนต่างออกแบบ ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน


นายแพทย์คณิต ตันติศิริวิทย์
อยู่เมืองน่านได้ 30 กว่าปี สมัยก่อนสองทุ่มร้านรวงปิดหมดแล้ว ปลอดภัย เมืองน่านมีลักษณะดีงามและยังคงอยู่ หลายคนที่มาเมืองน่านก็มักจะตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เมืองน่านยังคงความสงบไว้ได้ยาวนาน ยังคงเป็นโจทย์ของคนน่าน แต่ประเด็นก็คือคนต่างวัย คิดไม่เหมือนกัน จะทำอย่างไรให้ลงตัวกันได้ เป้าหมายที่เหมือนกันคือ อยากมีความสุข และทำอย่างไรให้มีความสุขอย่างมีคุณค่า  ถ้ามีลักษณะบางอย่างที่ควรอนุรักษ์ในเขตหัวเวียงใต้ แล้วมีความพยายามที่จะรักษาไว้ก็เป็นเรื่องดี อย่างบ้านเก่าถ้าฟื้นฟูได้ก็อยากให้คนหัวเวียงใต้ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ดีต่อคนน่านและคนอื่นทั้งหมด เมื่อก่อนเราไม่มีความรู้ ไม่มีสถาปนิก ก็อาจจะลำบาก แต่ตอนนี้มี มทร. มีการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีงบประมาณจะสนับสนุนก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ดังนั้น ถ้าหัวเวียงใต้ทำได้ดี ก็คงไม่มีเฉพาะการเคหะ หรือ มทร.ที่เข้ามา แต่จะมีหน่วยงานองค์กรอื่นๆ อีกที่เข้ามา
นพ.ประเวศ พูดว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมี หนึ่ง ความรู้ สอง มีคน สาม มีนโยบาย สิ่งที่ต้องถามคือ คนหัวเวียงใต้คิดอย่างไร บางกอกฟอรั่มเคยเข้ามาชวนตั้ง “ชมรมคนรักบ้านไม้” อ.ภิรมย์ มี “เรื่องเล่า” ในอดีตหลายเรื่องน่าสนใจ เป็นความภาคภูมิใจให้ลูกหลานได้รับรู้ เป็นเรื่องที่ดีที่มีหน่วยงานภายนอกมาช่วยเป็นที่ปรึกษา ชาวบ้านต้องรวมกันให้มาก องค์กรส่วนท้องถิ่นเองก็ต้องให้การสนับสนุน ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้


นายนิคม  บริบูรณ์ 
บ้านหัวเวียงใต้ ปกครองกันโดยแบ่งเป็น 4 ค้อ ค้อป่าซาง ค้อกลาง ค้อโพธิ์ทอง ค้อโอ้รัก  เรียกเขตการปกครองเป็น “ค้อ” มีการผสมผสานกันของประชากร คือทำการค้าขาย คนเกษียณอายุราชการ ที่เด่นที่สุดคือ การเป็นย่านการค้า มีการทำถนนคนเดิน เพราะฉะนั้น ถ้าทำนำร่องก็น่าจะทำกาดกองน้อย เพื่อเป็นย่านการค้า หรือทำในส่วนอาคารบ้านเรือน ชาวบ้านเองก็มีข้อจำกัด คือต้องการรื้อ ฝนตกทุกวัน ต้องอาศัยอยู่ แต่ไม่เคยมีใครให้คำปรึกษา อยากได้คำแนะนำด้านการพัฒนารูปทรงอาคาร การรื้อบ้านเก่าออกเป็นเรื่องจำเป็นของเจ้าของบ้าน แต่ไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่าแบบที่ควรจะเป็นเป็นอย่างไร ถ้ามีหน่วยงานอย่างการเคหะ มทร.เข้ามาก็ถือเป็นเรื่องดีมาก ถ้าสามารถรักษาไว้ได้ก็จะทำให้ย่านนี้มีเอกลักษณ์ 


นายสุรพล  เธียรสูตร 
สถาปัตยกรรมคือหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนเมืองน่าน สมัยก่อน น่านเองมีเอกลักษณ์หลายอย่าง มีตัวอักษร ภาษาของเราเอง มีศิลปะการแต่งกาย อาหารการกิน ฮีตฮอยจารีตที่เป็นความภาคภูมิใจของคนเมืองน่าน สล่าสมัยก่อนสืบต่อกันรุ่นต่อรุ่น เวลาเปลี่ยนไปก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น บ้านทรุด ปลวกกิน แต่การถ่ายทอดภูมิปัญญาของสล่า ไม่ว่าจะวัด คุ้มเจ้า ศาลากลาง ซึ่งมีที่มาที่ไปในการสร้างให้อยู่อย่างเหมาะสม เช่น หน้าหนาวลมแรง สล่าก็มีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม อย่างร้านค้าก็มีการออกแบบให้เหมาะสม ทำอย่างไรให้คนรู้สึกภาคภูมิใจ บางอย่างคนก็พยายามปรับ สิ่งสำคัญคือ ใจ อีกอย่างคือ การออกแบบศิลปะว่าเรามีความรู้ในเรื่องนี้หรือไม่ กรณีเมืองน่าน เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต แต่ต้องตอบสนองการใช้งานในปัจจุบันด้วย  หน้าที่ของเราคือต้องทำให้เกิดการเห็นความสำคัญ ทำให้เป็นกุศโลบาย ให้มีคุณค่าในตัวเอง วิธีการแบบนี้ผมเชื่อว่าเราสามารถทำได้ อาศัยสถาปนิกจากโครงการ เจ้าของบ้านที่อยากซ่อมแซมบ้าน แบบบ้านของการโยธาฯ หรือมีแบบที่เป็นต้นแบบของน่านมาขอไปทำได้เลยจากเทศบาลฯ ก็ง่ายขึ้น เช่น การกำหนดสีรูปทรงอาคาร ที่ต้องสะท้อนคุณค่าในอดีตไว้ แต่การออกเป็นเทศบัญญัติ ก็ติดปัญหาเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ บางเรื่องกลายเป็นการไปริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนว่าจะออกแบบตามที่ตนต้องการไม่ได้  ทำให้ผังเมืองถูกต่อว่า  ตรงนี้เป็นข้อจำกัดอยู่ด้วยเช่นกัน 


รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายเกษม  วัฒนธรรม
ยุคนี้เป็น็นยุคขายของเก่า แต่หลายที่รู้สึกว่าได้แต่ “ร่าง” แต่ไม่มีชีวิตชีวา ดังนั้น จะทำให้บ้านเราน่าอยู่จะทำอย่างไร ทำให้บ้านน่าอยู่แต่ต้องมีวิญญาณด้วยจะทำอย่างไร 


ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน นพ.บุญยงค์  วงศ์รักมิตร
            มีคำสองคำ คือ ฟื้น กับ ฟู ฟื้นเท่ากับสิ่งที่เคยมีอยู่ ที่ทำท่าจะไม่ดี กับฟูคือทำให้เจริญขึ้น สองคำนี้ คือการพัฒนา ฟื้นฟูสิ่งที่มีคุณค่า คำว่า “คุณค่า” มี 2 ความหมายในตัว คือ มีคุณ มีประโยชน์ ถ้าสิ่งนั้นมีประโยชน์สิ่งนั้นมีคุณ  บางอย่างไม่มีคุณค่าก็ไม่มีมูลค่า คุณค่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของคนเรา ทีมวิจัยที่มาเป็นนักผังเมือง สถาปนิกผู้สร้าง โดยความหมาย อันหนึ่ง คือ เป็นวิทยาศาสตร์แห่งการสร้าง อันที่สองคือมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากที่ว่าง สถาปนิกจึงมี 2 อย่าง สร้างและทำให้ที่นั้นมีประโยชน์  สถาปัตยกรรมก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งในวงของทัศนศิลป์ เรามีวาดรูป วิจิตรศิลป์ ทำให้เรารู้สึกว่า การจะเกิดคุณค่า ตัว “ศิลป์” จะเข้ามาช่วยได้  ตาจะมีคุณค่าเพิ่มขึ้นก็ต้องผ่านหรือฟังด้วยหู เช่น จากการไปศึกษาดูงาน งานที่เรามาฟื้นฟู ฟื้นอะไร บ้านเก่า บ้านไม้ ย่านการค้า? ดังนั้น การวางแผนต่างๆ ต้องใช้เวลา เป็นเฟส 1-2-3 ขึ้นกับเจ้าของบ้าน เจ้าของที่จะสร้างจิตสำนึกขึ้นมา ซึ่งก็ขึ้นกับคนรุ่นไหนตัดสินใจ ตกลงใจ ชักจูงใจ คนที่ตัดสินใจตัดสินบนพื้นฐานของอะไร ถ้าคนรุ่นใหม่ก็ต้องรื้อ แต่ถ้าคนรุ่นใหม่ที่ผ่านจิตปัญญาศึกษา (transformation learning) ก็จะตัดสินใจอีกอย่าง 


พาณิชย์จังหวัดน่าน นายภาณุ ขันธ์แก้ว
ทุกวันนี้เราเสียลูกค้าไปให้ modern trade เยอะมาก แต่เราก็อยากเก็บรักษาย่านการค้าเก่าเอาไว้ อย่างน้อยจังหวัดหนึ่งต้องจัดตั้งมาสักแห่ง และประกวดกัน มีการพัฒนาสินค้าหลักขึ้นมา กรณีน่านมาลงที่ถนนสุมนเทวราช ดูจากพื้นที่ที่ยังหลงเหลือบ้านเก่า สถาปัตยกรรมแบบที่ยังหลงเหลืออยู่ งานของพาณิชย์จังหวัดคือ software  ต้องการทำเรื่องความมีชีวิตชีวา ของเราไม่มีใครรู้จัก ต้องเริ่มจากศูนย์ ต้องหาจุดขาย แต่ก็ถูกอาคารสมัยใหม่คุกคามไปมาก จริงๆ กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้เน้นถนนคนเดิน แต่เน้นเรื่องการดำรงอยู่ของย่านการค้า เช่น น่าน ถ้าจะช็อปต้องนึกถึงหัวเวียงใต้ แต่การจะทำให้คนรู้จักต้องมีกิจกรรม ต้องใช้ถนนคนเดินเป็นกลยุทธ์ ผมคิดว่า ชาวบ้านอยากให้ความร่วมมือ แต่ต้องเป็นรูปธรรม และผลประโยชน์ต้องตกกับชาวบ้าน ส่วนใหญ่คนจะติดที่เรื่องงบประมาณ ต้องชัดเจนในประเด็นผลประโยชน์ที่ชาวหัวเวียงใต้จะได้รับคืออะไร หน่วยงานอื่นๆ คงเข้าไปช่วยได้ในเรื่องกิจกรรม แต่เราต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน

นายสาธิต  บุญทอง ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน
ยอมรับว่าบ้านเราเปลี่ยนไปเยอะมาก คิดว่าบ้านเรา (เมืองน่าน) ก็เดินมาถูกทาง หลายคนก็กลัวเรื่องวันเวย์  การตัดสินใจทำอะไรกับอาคารเก่าหลายหลังเห็นด้วยว่าขึ้นกับว่าใครคือผู้ตัดสินใจในบ้าน  ถ้าสามารถทำได้อย่างบ้านเรือนเก่าแต่มีการปรับปรุงเหมือนตัวอย่างในญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ดีต้องศึกษา หลายเรื่องเรามีต้นทุและทำได้ดีแล้ว เช่น จักรยาน ซึ่งได้ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องความสามัคคี 

พระครูนิเทศนันทกิจ เจ้าอาวาสวัดหัวเวียงใต้
             ขอฝากประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรม เช่น โซนการค้า อาจจะเป็นบ้านไม้ เช่น ตลาดร้อยปี มีของเก่าขาย มีการทำหมวกที่เป็นเอกลักษณ์ ฟุตบาทจะทำอย่างไร ป้ายต่างๆ สำคัญคือให้เป็นเอกลักษณ์เหมือนกัน

หลังเสร็จสิ้นการเสวนา มีการมอบของที่ระลึกให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมการเสวนาและประธานในพิธี





พระครูนิเทศนันทกิจ เจ้าอาวาสวัดหัวเวียงใต้ ให้ศีลให้พรแก่ผู้เข้าร่วมงาน


รับประทานอาหารร่วมกัน (บรรยากาศแบบขันโตก)
และชมการแสดงพื้นเมืองจากเยาวชนลูกหลานชุมชนย่านหัวเวียงใต้







ชมวิดีโองานเปิดตัว

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โครงการฟื้นย่านหัวเวียงใต้

                 จากวิสัยทัศน์ของการเคหะแห่งชาติ อันเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งโครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาค จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาเมืองและการอยู่อาศัยแบบบูรณาการให้สามารถเห็นเป็นรูปธรรม โดยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชุมชนที่ควรค่าแก่การฟื้นฟู การเสริมสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่ชุมชน และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น  ซึ่งการฟื้นฟูพัฒนาสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐานนั้น จะนำไปสู่แนวคิด กระบวนการจัดการรูปแบบใหม่ มีเป้าหมายเพื่อประชาชนในท้องถิ่นจะมีคุณภาพการอยู่อาศัยที่ดีในย่านและชุมชนเมืองที่น่าอยู่ โดยผ่านกระบวนการจัดทำแผนและผังแม่บท  ตลอดจนแผนการดำเนินการฟื้นฟูเมืองและการอยู่อาศัย ตอบรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้สังคมที่อยู่ดีมีสุข (Green and Happiness Society) ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
            จึงเป็นที่มาของโครงการฟื้นย่านหัวเวียงใต้ที่การเคหะแห่งชาติร่วมกับคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่จะดำเนินการในระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนของจังหวัดน่าน เทศบาลเมืองน่าน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคีและชาวชุมชนเมืองน่าน