สำหรับพื้นที่รูปธรรมหรือพื้นที่นำร่องในการฟื้นฟูในย่านหัวเวียงใต้ จะเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ หรือพื้นที่เล็กๆ ที่สามารถริเริ่มหรือทำให้เกิดขึ้นจริงได้ก่อน เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาและเรียนรู้ด้วยในภายหลัง ซึ่งจากการประชุมเลือกพื้นที่นำร่อง พบว่า น่าจะเริ่มต้นจากย่านที่อยู่อาศัยของคณะทำงานที่เป็นอาสาสมัครก่อน โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ถนนสุมนเทวราช บริเวณหน้าศาลเจ้าปุงเถ้ากง ร้านเฮือนกำกิ๋น เรื่อยมาถึงบ้านโกเด๊ง ระหว่างบ้านโกเด๊งและร้านปากซอย จะเป็นซอย 5 สองข้างทางในซอยนี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านพักอาศัย บางหลังประกอบอาชีพค้าขาย โดยเช่าพื้นที่หน้าร้านอยู่ริมถนนสุมนเทวราช เช่น ร้านส้มตำทอด ร้านเพาะชำต้นไม้ ป้าต่าย สุดซอยด้านขวามือเป็นบ้านอ้ายบุญโชติ รับทำป้ายและงานศิลปะ ด้านซ้ายมือเป็นบ้านเช่า ฝั่งตรงกันข้ามเป็นบ้านป้าปุ๋ยซึ่งทำขนมปาด ขนมเก่าแก่ของคนน่าน ถัดไปเป็นร้านอาหารเจ บ้านยายหล้า ร้านขายไอติมโบราณ ฝั่งตรงข้ามกันเป็นบ้านคุณกนกศักดิ์ และบ้านคุณปรานอมหรือป้าแต๋ขนมพื้นบ้าน รวมทั้งหมดประมาณ 15 หลังคาเรือน
พิจารณาทางกายภาพ พื้นที่นี้มีลักษณะคล้ายตัวอักษรเจ (J) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถฟื้นฟูได้ทั้งมิติเรื่องบ้านเก่าที่ควรอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ของอาคารบ้านเรือน การออกแบบที่ว่างที่เอื้อประโยชน์ใช้สอยภายในชุมชน รวมถึงการฟื้นฟูย่านการค้าตามแนวถนนสุมนเทวราชที่เชื่อมโยงกับร้านค้าย่อยในซอย และผู้ผลิตระดับครัวเรือนที่ประกอบอาหารหรือสิ่งของในบ้านแล้วนำออกมาจำหน่ายด้านนอก จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ยินดีให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูย่านหัวเวียงใต้ โดยสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดก็คือ องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเมือง ไม่ว่าจะเรื่องรูปแบบบ้าน/ป้าย รวมถึงองค์ประกอบภูมิทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์สอดคล้องเหมาะสมกับท้องถิ่น
นอกจากนี้ ในที่ประชุมหลังเวทีประชาคมยังมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่าการฟื้นฟูย่านชุมชนหัวเวียงใต้จำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างความภาคภูมิใจและสำนึกความเป็นเจ้าของให้เกิดกับชาวชุมชน ชักชวนภาคีภาคีเครือข่าย ทั้งคนในชุมชน-ร้านค้าร่วมงาน ใช้วิชาการเป็นตัวนำ รวมถึงการเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ จัดกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ประเด็นวัฒนธรรมเป็นตัวนำ และร่วมผลักดันให้งานฟื้นฟูเมืองเป็นวาระหลักของเมืองหรือจังหวัด โดยภาคท้องถิ่นหรือรราชการควรออกมาตรการหรือเงื่อนไขเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเมืองให้มากขึ้น
ในการลงพื้นที่ประจำเดือนธันวาคมนี้ คณะทำงานโครงการฯ ยังถือโอกาสร่วมงาน “ถนนคนน่าน” ด้วยการจัดซุ้มนิทรรศการแนะนำโครงการที่หน้าวัดหัวเวียงใต้ พร้อมทั้งร่วมงานถนนคนน่านซึ่งชาวเมืองน่านร่วมกันจัดได้อย่างอบอุ่นรับลมหนาวแรกของปีกันทีเดียว
การเคหะแห่งชาติ ร่วมกับคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555
ประชุมคณะทำงาน(ย่อย)ฟื้นฟูย่านชุมชนหัวเวียงใต้ ครั้งที่ 1
คล้อยหลังเวทีประชาคมเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 มีอาสาสมัครในชุมชนหัวเวียงใต้รวมประมาณ 8 ท่าน อาสาเข้าร่วมเป็น “คณะทำงานฟื้นฟูย่านชุมชนหัวเวียงใต้” ร่วมกับคณะผู้วิจัยโครงการฟื้นหัวเวียงน่าน ผ่านมือหมู่เฮา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณาจารย์ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมฯ จึงอาจมีความลึกซึ้งในมิติวัฒนธรรมและความเป็นมาของชุมชนไม่มากเท่าคนในชุมชน โดยในช่วงเช้าของวันที่ 9 ธันวาคม 2554 คณะทำงานผู้วิจัยได้จัดให้มีการประชุมคณะทำงานขึ้น ณ ห้องกองทุนหมู่บ้าน วัดหัวเวียงใต้ เพื่อทบทวนเป้าหมายโครงการ นั่นคือ การพัฒนา “การอยู่อาศัย” ที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการค้นหาตัวเองของคนในพื้นที่ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สามารถเชื่อมประสานและทำงานอย่างเป็นบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ และสามารถปรับปรุงฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรมและขยายผลได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น