วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

การศึกษาดูงานภายในประเทศ

          การสร้างประสบการณ์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรัก และเล็งเห็นถึงคุณค่าของการฟื้นฟูเมืองเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้จัดศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์การฟื้นฟูและอนุรักษ์เมืองที่มีตัวอย่างให้เรียนรู้ตามแนวทางที่สอดคล้องกับพื้นที่ย่านหัวเวียงใต้ ภายใต้แนวคิดเรื่อง “การฟื้นฟูเมืองและย่านการค้า” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) ให้ผู้มีส่วนร่วมในโครงการฟื้นฟูเมืองฯ ได้เห็นตัวอย่าง และเรียนรู้การฟื้นฟูเมืองแห่งอื่นที่มีบริบทใกล้เคียง
2) เพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการฟื้นฟูเมืองและย่าน ทั้งภาคทฤษฎีและความรู้เพิ่มเติมจากภาคสนาม เพื่อเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติให้เกิดรูปธรรมในพื้นที่โครงการ
3) สามารถนำแนวคิดการฟื้นฟูเมืองฯ มาบูรณาการในการวางแผนฒนาจังหวัดและท้องถิ่น 
 
          การศึกษาดูงานในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม พ.ศ.2555 จังหวัดลำปาง คณะศึกษาดูงานประกอบด้วย ชาวชุมชนหัวเวียงใต้ ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดน่าน และผู้แทนจากการเคหะแห่งชาติ รวม 24 คน

          การศึกษาดูงานที่จังหวัดลำปางมีจุดเด่นเรื่องการฟื้นฟูเมืองและย่านการค้าเก่าแก่ของเมือง สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและฟื้นฟูย่านการค้าและการอนุรักษ์อาคารที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในชุมชนหัวเวียงใต้ มีตัวอย่างเรื่องการให้ความสำคัญกับศูนย์เรียนรู้นอกห้องเรียนซึ่งมีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับภูมิภาค เมือง และชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองลำปางยังมีชุมชนที่มีจุดแข็งเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นจนได้รับรางวัลระดับโลก ทั้งหมดนี้จึงน่าจะทำให้ภาคีภาคส่วนต่างๆ จากจังหวัดน่านได้ร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกัน โดยการเข้าพบ เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ และการสัมผัสรูปธรรมของจริง  รวมทั้งสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหา อุปสรรค และวิธีการของชุมชนต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนบทเรียนและองค์ความรู้ด้านการฟื้นฟูเมืองอันจะนำไปสู่การพัฒนาการอยู่อาศัยที่ดีมีคุณภาพต่อไป
 สถานที่ศึกษาดูงาน ประเด็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิทยากรผู้บรรยาย

ภาพกิจกรรมการศึกษาดูงาน
 
ต้อนรับคณะศึกษาดูงานที่ร้านอาหารบ้านเก้าลำปาง และรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน

คุณเฉลิม แก้วกระจ่าง ปลัดเทศบาลนครลำปาง บรรยาย หัวข้อ บทบาทของท้องถิ่นกับการเสริมสร้างและรักษามรดกทางวัฒนธรรม

 














 


 แนวคิดและกระบวนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จังหวัดลำปาง โดย คุณภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์



 





 











บรรยายและนำชมอาคารสถาปัตยกรรมย่านการค้าตลาดจีน โดย คุณไตรเทพ  บุญเฮง





















บรรยายเรื่อง แนวคิดการจัดตั้ง “มูลนิธินิยม  ปัทมะเสวี
และนำชมศูนย์การเรียนรู้ปัทมะเสวี หอศิลป์ลำปาง
โดย คุณไพศาล  ด่านวิรุทัย ผู้จัดการศูนย์ฯ






















บรรยาย และนำชม กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัดปงสนุก โดย อาจารย์อนุกูล  ศิริพันธ์





















คุณเกียรติชัย มานะศิลป์ (โกชัย) บรรยายหัวข้อ "จากชุมชนตลาดจีน ถึงกาดกองต้า....วันนี้"" 




















 






















นำชมและศึกษาสถานที่สำคัญของเมือง เช่น กำแพงเมือง ถนนสายวัฒนธรรม บ้านเก่าชุมชนท่ามะโอ
และบ้านอนุรักษ์เรือนเจ้าแม่ยอดคำ โดย คุณกิติศักดิ์ เฮงษฎีกุล

 


















 กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันสรุปบทเรียนจากการศึกษาดูงาน

นอกจากข้อมูลและสาระอันเป็นประโยชน์ของสถานที่ศึกษาดูงานแต่ละแห่ง บทเรียนที่คณะศึกษาดูงานได้รับจากการเรียนรู้ครั้งนี้ ได้แก่
·  การจะฟื้นฟูเมืองให้เกิดเป็นรูปธรรมได้จริงต้องมาจากวิสัยทัศน์ผู้นำว่าจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ส่งเสริม และการพัฒนาเมืองมากน้อยเพียงไร เพราะเชื่อมโยงถึงการวางแผนจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ
·  การอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมให้คงอยู่เป็นภารกิจสำคัญที่คนรุ่นปัจจุบันต้องเร่งดำเนินการ โดยอาศัยภูมิปัญญาความรู้และเทคนิคเฉพาะและความละเอียดอ่อน หัวใจสำคัญในการอนุรักษ์บ้านเก่า คือการรวบรวมเรื่องราวจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ และภาพถ่ายเก่าๆ ของเรือนหลังนั้น เพราะเป็นองค์ประกอบที่มีคุณค่าและสมควรได้รับการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง
·  สิ่งสำคัญในการบูรณะโบราณสถานโบราณวัตถุ คือเริ่มต้นจากคนในชุมชนนั้นๆ ก่อนจะขยายความร่วมมือออกไปในวงกว้าง ด้วยการสำรวจภูมิปัญญางานช่างที่มีอยู่เดิม เพราะถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการซ่อมแซมบูรณะ
·  การร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่นกับสถาบันการศึกษาที่มีความชำนาญเฉพาะเป็นความจำเป็นและต้องการการลงทุนว่าจ้าง เพื่อการบูรณะซ่อมแซมจำเป็นต้องทำอย่างถูกหลักวิชาเพื่อป้องกันการสูญหายของคุณค่าที่มีอยู่เดิม
·  แนวคิดหลัก (concept) ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองอย่างห้อง “ปูมละกอน” หรือ “มิวเซียมลำปาง” คือการตั้งคำถามถึงความเป็นอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของคนลำปาง รวมถึงการเปิดพื้นที่และโอกาสให้เกิดกิจกรรมเพื่อใช้ “พลัง” ในเชิงสร้างสรรค์ และการ “ย่อย” เรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเพื่อเข้าถึงผู้ชมที่มีหลากหลายกลุ่มได้มากที่สุด
·  การทำถนนคนเดินจำเป็นต้องทำชุมชนให้เข้มแข็งก่อน แล้วค่อยร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ควรเน้นนักท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เน้นคนในชุมชน ดังนั้น หากจะเริ่มต้นทำถนนคนเดินต้องอ่านชุมชนของตัวเองให้ทะลุว่าคนในพื้นที่ตัวเองมีลักษณะอย่างไร เพราะแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
·  การบริหารจัดการถนนคนเดินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางที่กาดกองต้าจัดการคือให้ความสำคัญกับผู้ค้ายุคแรกเริ่มและให้สิทธิเจ้าของบ้านก่อน รวมถึงการกำหนดระเบียบเพื่อควบคุมประเภทสินค้าที่จำหน่าย ผู้ค้า มีบทลงโทษหากทำผิดระเบียบ และใช้วิธีแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับธรรมชาติของชุมชน
·  ภาวะผู้นำเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องที่มีความซับซ้อนและต้องการความเฉียบขาด เช่นกรณีถนนคนเดิน ผู้นำต้องมีความเฉียบขาด  ทุ่มเท เสียสละ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

บทเรียนที่คณะศึกษาดูงานร่วมกันสรุปในวันสุดท้ายของการศึกษาดูงาน พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ “คน” และ “ทีมงาน” ดังนี้
·  การฟื้นฟูหรือเปลี่ยนแปลงเมืองจะเกิดขึ้นได้ มีส่วนมาจากการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เช่น นายกเทศบาลฯ ผู้นำชุมชน ดังนั้นการเลือก “ผู้นำ” ทั้งระดับเมือง ระดับชุมชน หรือระดับโครงการควรเป็นคนที่มีความตั้งใจ เสียสละ มีบารมี มีวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะการมีผู้นำที่เสียสละมีส่วนในการสร้างความเชื่อมั่นจากคนในชุมชน  
· “อาสาสมัคร” ตัวจริง ต้องเป็นบุคคลที่ทำจริง ไม่ฝากใครทำ
·  การสร้าง “ทีม” ในการทำงานที่ดี ควรประกอบด้วยทั้ง “ฝ่ายบู๊” “ฝ่ายบุ๋น” มีการแบ่งบทบาทกันภายในทีม รวมทั้งมีฝ่ายประชาสัมพันธ์
·  การทำงานควรเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยขยายผล เช่น เริ่มต้นจากครอบครัวที่เป็นต้นแบบให้คนอื่นๆ ได้

          สิ่งที่คณะศึกษาดูงานตั้งใจกลับไปทำ คือ ชักชวนให้คณะกรรมการจัดงานกาดกองน้อยได้ทบทวนฐานคิดในการทำงาน เป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน โดยศึกษากรณีตัวอย่างการจัดกาดกองต้าที่มีเป้าหมายในเชิงการป้องกัน และลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นมากกว่ามุ่งเน้นแต่เรื่องการค้าขาย ประการสำคัญ ในการฟื้นฟูย่านชุมชนหัวเวียงใต้จะเกิดขึ้นได้จริง คณะทำงานต้องลุกขึ้นมามีบทบาทนำมากกว่ารอให้คณะผู้วิจัยลงมาขับเคลื่อนให้ เพราะโครงการวิจัยมีระยะเวลาสิ้นสุด แต่การพัฒนาและฟื้นฟูเมืองน่านย่อมเดินทางต่อไปด้วยคนเมืองน่านด้วยกันเอง

บทเรียนและข้อเสนอแนะหลังการศึกษาดูงาน

1.  ภาคีจากภาคราชการที่ร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีความกระตือรือร้น และแสดงเจตจำนงที่จะช่วยเหลืองานในโครงการอย่างเต็มที่ แต่อาจมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในระดับผู้ปฏิบัติการ

2.  การสรุปบทเรียนในช่วงปิดท้ายการศึกษาดูงานมีหลายประเด็นที่ผู้เข้าร่วมศึกษาดูงานได้ร่วมกันคิดและเสนอแนะ ซึ่งน่าจะได้รับการกระตุ้นและผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ชุมชนหัวเวียงใต้ต่อไป

3.  การได้เห็นแบบอย่างการมีส่วนร่วมของกลุ่มเยาวชนจากกรณีงานรำลึกสะพานรัษฎา ทำให้หลายฝ่ายเห็นความสำคัญให้กลุ่มเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น แต่การจะให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทโดยตรงอาจไม่สอดคล้องกับกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น กิจกรรมถนนคนเดินซึ่งมักถูกมองว่าเป็นงานของผู้ใหญ่ จึงเสนอให้มีคณะทำงานที่เป็นคนซึ่งคลุกคลีกับเยาวชนมาร่วมด้วย

4.  การฟื้นฟูสิ่งดีๆ ในย่านหัวเวียงใต้ สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการให้ “คนใน” เล่าความภาคภูมิใจในชุมชน แล้วนำมาจัดทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือ) ให้คนในชุมชนมีส่วนคิด ทำ และร่วมสร้างความภาคภูมิใจ เหมือนที่ชาวย่านกาดกองต้าได้ทำขึ้น

      คณะผู้วิจัยวางแผนการศึกษาดูงานครั้งนี้โดยมุ่งหวังให้ชาวน่านได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อจะได้นำมาใช้ฟื้นฟูเมืองน่านต่อไป ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสถานที่พักในการศึกษาดูงาน ที่มีสภาพน่าพัก อยู่ในสภาพแวดล้อมและบรรยายกาศที่ดี ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้วางแผนสอดแทรกเพื่อให้ผู้ศึกษาดูงานครั้งนี้ได้เรียนรู้และนำแบบอย่างการบริหารจัดการที่พักที่ได้มาตรฐานไปประยุกต์ใช้กับการจัดการที่พักในย่านหัวเวียงใต้ในอนาคต
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น