เวทีประชาคมครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2555 ณ อาคารศาลเจ้าปุงเถ่ากง บนถนนสุมนเทวราช ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่ใจกลางย่านชุมชนและเดินทางเข้าถึงได้ง่าย การจัดประชาคมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) นำเสนอร่างแผนการพัฒนา ผังแนวความคิด (Action area concept plan) และข้อเสนอแนะการออกแบบ (Design Guidelines) สำหรับการฟื้นฟูชุมชนย่านหัวเวียงใต้
(2) รับฟังความคิดเห็นและหามติร่วมในการนำแผนและผังสู่การปฏิบัติ
(3) หาข้อสรุปและจัดลำดับความสำคัญในการผลักดันแผนให้เป็นรูปธรรม
ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยภาคี 4 ภาคส่วนทั้งในและนอกพื้นที่ชุมชนหัวเวียงใต้ ประมาณ 80 คน โดยภาคส่วนที่เข้าร่วมมากที่สุด คือภาคราชการ
เนื่องจากการดำเนินงานโครงการนับตั้งแต่การประชุมคณะทำงานฟื้นฟูย่านชุมชนหัวเวียงใต้ (เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554) มาจนถึงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 ขาดความต่อเนื่องเพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ สถานการณ์การรับรู้ของชาวชุมชนหัวเวียงใต้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของโครงการฯ อยู่ในวงจำกัด บางค้อยังไม่ทราบถึงการดำเนินโครงการเท่าที่ควร ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการสื่อสารและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่อาจไม่ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ของชุมชนได้ทั้งหมด คณะผู้วิจัยจึงต้องปรับกลยุทธ์โดยก่อนการจัดเวทีประชาคมครั้งที่ 2 ได้จัดเวที “ผ่อนิทรรศการ ซักถามอู้จ๋าการฟื้นฟูเมือง” ขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2555 ณ บริเวณสามแยกซอย 5 ถนนสุมนเทวราช เพื่อให้ชาวชุมชนหัวเวียงใต้ทั้ง 4 ค้อ รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่ไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับโครงการมาก่อนได้มีพื้นที่พบปะพูดจา ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และรู้ที่มาที่ไปเกี่ยวกับโครงการ ก่อนจะเข้าร่วมเวทีประชาคมครั้งที่ 2 ในวันถัดไป ในงานได้เชิญชวนให้ชาวชุมชนหัวเวียงใต้นำขนม อาหาร และเครื่องดื่มซึ่งเป็นของดีของชุมชนมาร่วมชิมและอู้จ๋าอย่างเป็นกันเอง รวมถึงการแสดงฟ้อนกลองปู่จาของคณะฆ้องกลองเยาวชนบ้านหัวเวียงใต้ ก่อนจะนำเสนอการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนซักถามเกี่ยวกับการฟื้นฟูเมืองและการฟื้นฟูย่านหัวเวียงใต้ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง ภายในงานได้จัดนิทรรศการแผ่นภาพผังแนวความคิดในการฟื้นฟูชุมชนย่านหัวเวียงใต้ให้ผู้ร่วมประชุมได้สำรวจตรวจสอบ และมีคณะผู้วิจัยคอยทำหน้าที่ชี้แจงและอธิบายข้อสงสัย เนื่องจากบางชุดข้อมูลเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่ต้องอาศัยการอธิบายความให้เข้าใจตรงกัน

เวทีประชาคมครั้งที่ 2 เริ่มต้นด้วยการฉายวีดีทัศน์กิจกรรมความเคลื่อนไหวของโครงการช่วงที่ผ่านมา และเปิดการประชุมโดย นายศักดิ์ชัย จ.ผลิต ปลัดจังหวัดน่าน จากนั้นหัวหน้าโครงการฯ นายพงษ์สิน ทวีเพชร นำเสนอร่างแนวความคิดการฟื้นฟูย่านหัวเวียงใต้ โดยชี้ให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากมีการฟื้นฟูเมือง จะต้องฟื้นฟูกันอย่างไร แบบไหน อะไรคือสิ่งที่ชาวเมืองควรหลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลัง พร้อมทั้งนำเสนอร่างความคิดต่อไปนี้
1) การฟื้นฟูพื้นที่นำร่อง
(Jack
Model) เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ โดยใช้อัตลักษณ์ของเมืองน่านและการอยู่อาศัยเข้ามาผสมผสานให้อยู่ร่วมกันกับลักษณะอาคารแบบดั้งเดิม
2) การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในย่านหัวเวียงใต้
โดยเฉพาะอาคารที่ทรงคุณค่า
3) งานปรับปรุงภูมิทัศน์
ถนน และซอยย่านหัวเวียงใต้ เป็นงานออกแบบภูมิทัศน์และงานตกแต่งทางเท้า ถนน รั้ว
และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณย่านการค้า
4) การเลือกใช้สีอาคารในย่านหัวเวียงใต้
5) แนวทางการออกแบบอาคารใหม่
เช่น การออกแบบป้ายร้าน รายละเอียดเกี่ยวกับประตู หน้าต่าง องค์ประกอบ เรือนไม้
ลักษณะพืชพรรณที่สามารถปลูกได้ในชุมชนเมืองน่าน
นอกจากนี้ นักวิจัยในโครงการนำเสนอและทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง
คุณค่าความเป็นเมืองเก่า-เมืองประวัติศาสตร์
หลักการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านและเมืองเก่า รูปแบบและวิธีการฟื้นฟูเมือง
ตลอดจนสาระสำคัญของข้อกำหนด/ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง
โดยยกตัวอย่างเมืองในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์
ที่มีการใช้ข้อกำหนดเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนเมืองจนทำให้เมืองมีเอกลักษณ์และคงความเป็นอัตลักษณ์ไว้ได้ จากนั้น นำเสนอข้อเสนอแนะการออกแบบ (Design
Guidelines) สำหรับพื้นที่เฉพาะชุมชนหัวเวียงใต้
และเปิดรับฟังความคิดเห็น ที่ประชุมมีข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่อผังแนวความคิดและข้อเสนอแนะการออกแบบ
ดังนี้ 1) การติดตั้งป้ายโลโก้ของบริษัทห้างร้านที่เป็นสาขาของผู้ประกอบการรายใหญ่จะกระทบต่อทัศนียภาพของเมือง
แต่ก็เป็นข้อตกลงทางสัญญาของภาคธุรกิจ แนวทางที่เป็นไปได้ คือ
การมีข้อตกลงร่วมภายในชุมชนว่าคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร
แล้วผลักดันเป็นข้อเสนอหรือเทศบัญญัติเรื่องการติดตั้งป้ายโฆษณา มีการต่อรองหรือขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ให้สามารถทำตามเงื่อนไขที่ชุมชนเมืองกำหนด
![]() |
คุณศักดิ์ชัย จ.ผลิต ปลัดจังหวัดน่าน
กล่าวเปิดการประชุม
|
2) การปลูกต้นไม้ในเมือง เสนอให้มีการปลูกต้นหมาก ซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่น ขณะเดียวกันการปลูกพืชหรือพันธุ์ไม้ใดควรพิจารณาสถานที่ที่จะปลูกด้วยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
3) ประเด็นความเสี่ยงหรือความท้าทายที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่
- ปัญหาอัคคีภัยที่จะเกิดขึ้นกับอาคารไม้ ต้องคำนึงถึงเรื่องวัสดุอาคาร เส้นทางการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ และการเตรียมพร้อมของคนในชุมชน เช่น การติดตั้งถังดับเพลิงประจำบ้านแต่ละหลัง - การเกิดขึ้นของอาคารรูปแบบใหม่ๆ จากกระแสธุรกิจการท่องเที่ยวและความทันสมัย เช่น เกสต์เฮ้าส์ โรงแรม ร้านขายของ ร้านเกมส์
ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่กังวลเรื่องความเป็นไปได้ในการนำร่างดังกล่าวไปใช้จริง ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ
- การมีคณะทำงานที่ชัดเจน โดยต้องเริ่มต้นจาก “คนใน” ชุมชนหัวเวียงใต้ และมี “คนนอก” คอยให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้
- การสร้างความต่อเนื่องและสม่ำเสมอของคณะผู้วิจัยทั้งกิจกรรมและการรายงานความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะ เช่น การตั้งวงคุยเรื่องผังแนวคิดที่นำเสนอให้ประชาชนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมในครั้งนี้ได้รับทราบและร่วมแสดงความเห็น
- ความยาก-ง่ายในการดำเนินการ บางเรื่องสามารถทำได้เองเลยโดยเจ้าของบ้าน หรือทำร่วมกับหนวยงานในท้องถิ่น/จังหวัด โดยผลักดันเสนอเป็นแผนงานที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เช่น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่พาณิชย์จังหวัดน่านกำลังดำเนินการอยู่
- ศักยภาพ กำลังทรัพย์ และองค์ความรู้ของเจ้าของบ้านหรืออาคารนั้นๆ
แนวทางสู่ความเป็นไปได้เพื่อนำผังแนวความคิดไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีผู้เสนอไว้ดังนี้
- ชุมชนจะต้องเข้ามามีบทบาท และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ โดยเริ่มต้นจากบ้านของตัวเองก่อน และต้องมีความเข้าใจในโครงการฯ และสิ่งที่ทำอยู่
- ชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง ซึ่งในขณะนี้ถือเป็นจุดอ่อนของชุมชนหัวเวียงใต้ที่ขาดความเข้มแข็งในระดับหมู่เหล่า (teamwork) แม้ในเชิงปัจเจกจะมีคนเก่งอยู่ไม่น้อยก็ตาม
- การเชื่อมประสานกันระหว่างแนวคิดและแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยแท้แล้วไม่ได้มีเป้าหมายต่างกันนัก เช่น อพท. พาณิชย์จังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด งานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น
- “ความลงตัว” ระหว่างเจ้าของบ้านที่มีกำลังทรัพย์และต้องการฟื้นฟูแต่ขาดความรู้ หรือขาดช่างที่มีความสามารถ จำเป็นต้องชี้ทางหรือสร้างพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้มาพบกัน
- การจัดทำบ้านตัวอย่างให้เห็น เพื่อสร้างแรงดึงดูด
- ก่อตั้งคณะทำงานย่านชุมชนหัวเวียงใต้ที่จะลุกขึ้นมาดำเนินการรับผิดชอบอย่างจริงจังแข็งขัน โดยอาจเริ่มต้นจากคณะทำงานที่เป็นผู้นำโดยธรรมชาติจากทุกค้อ ค้อละ 2 คน กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าที่มีส่วนได้เสียโดยตรง และมีที่ปรึกษาที่ให้ความสนใจและร่วมกิจกรรมได้ต่อเนื่อง รวมประมาณ 15-20 คน มีผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาด มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน และคณะทำงานชุดดังกล่าวไม่ต้องมีวาระสิ้นสุด ขอเพียงให้มีความต่อเนื่อง
แนวทางอื่นที่เป็นส่วนประกอบและสามารถทำคู่ขนานกับงานอื่นๆ ได้แก่ การเสริมพลังความเป็นชุมชนจากฐานราก การจัดวงเสวนาพูดคุยและสร้างกลุ่มคนเล็กๆ ให้พร้อมรับหน้าที่เป็นคนทำงานของชุมชน การไปทัศนศึกษาดูการพัฒนาเมืองอื่นๆ การเชิญทุนใหญ่มาหารือกับคนในท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ร่างความคิดดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ได้จริงหรือไม่เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชนเป็นสำคัญ อีกทั้งเงื่อนไข/อุปสรรคที่ยังมีอยู่ในชุมชน อาทิ
- การทำความเข้าใจเรื่องผังแนวความคิดและข้อเสนอแนะการออกแบบ (Design Guidelines) อาจเป็นเรื่องเชิงเทคนิคซึ่งยากต่อความเข้าใจ
- คนในชุมชนส่วนใหญ่เข้าสู่วัยสูงอายุ และส่วนมากเป็นชุมชนเมืองที่ประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก
- เจ้าของบ้านยังไม่ออกมาเข้าร่วมโครงการฯ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา
บทเรียนและข้อเสนอแนะจากการประชุม
1) แม้จะมีการจัดงาน “ผ่อนิทรรศการ ซักถามอู้จ๋าการฟื้นฟูเมือง” และประชาสัมพันธ์มากขึ้นก็ยังพบว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวชุมชนหัวเวียงใต้ให้ความสำคัญกับการร่วมเวทีน้อยมาก ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมจึงเห็นว่าควรเปิดวงคุยเล็กๆ เป็นกลุ่มๆ ว่าด้วยเรื่องผังแนวคิดเพื่อให้ประชาชนที่ไม่ได้มาเข้าร่วมในครั้งนี้ได้รับทราบและแสดงความเห็น
2) การพิจารณาดำเนินการเรื่องคณะทำงานฟื้นฟูย่านหัวเวียงใต้ควรเร่งผลักดัน โดยทบทวนรายชื่อคณะทำงานฯ เดิม และเพิ่มเติมรายชื่อใหม่ นัดประชุมและกำหนดบทบาทให้ชัดเจน เพื่อรองรับการทำงานโครงการฯ ที่จะมาถึง
3) ร่างผังแนวความคิดและและข้อเสนอแนะการออกแบบ (Design Guidelines) ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับเรื่องสุนทรียภาพและความงามทางสถาปัตยกรรมเป็นหลัก ควรเพิ่มเติมมิติด้านวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการอยู่อาศัยเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้มากขึ้น
4) การสื่อสารผ่านบุคคลหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเป็นหลักไม่ส่งผลต่อการรับรู้โครงการอย่างทั่วถึง จึงควรพิจารณาหาช่องทางในการสื่อสารประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความเคลื่อนไหวในโครงการในลักษณะที่เข้าถึงคนในชุมชนแต่ละค้อให้มากขึ้น
5) คณะผู้วิจัยควรได้ร่วมกับชาวชุมชนวางแผน เร่งกระตุ้นให้ชาวชุมชนหัวเวียงใต้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูบ้านเมืองของตนเอง และสร้างสำนึกในความเป็นเจ้าของ การ “ฟื้นหัวเวียงน่าน ผ่านมือหมู่เฮา” อย่างจริงจัง
