วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

งานประชาคม ครั้งที่ 3 ณ วัดหัวเวียงใต้


 เวทีประชาคมครั้งที่ 3 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555 ระหว่างเวลา 18.00 - 21.00 . ณ ศาลาเทพประชานุสรณ์ วัดหัวเวียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
          (1) นำเสนอแผนพัฒนาและรูปแบบผังทางด้านกายภาพที่มีรายละเอียดโครงการซึ่งพร้อมจะนำไปสู่การปฎิบัติ
          (2) หาแนวทางในการผลักดัน แผน ผัง และรูปแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่ไปดำเนินการจัดทำร่วมกันให้เกิดเป็นรูปธรรม
       ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยภาคี 4 ภาคส่วนทั้งในพื้นที่และภายนอก ได้แก่ ตัวแทนภาคราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการท้องถิ่น ภาคประชาสังคม/องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคสื่อมวลชน ชาวชุมชนย่านหัวเวียงใต้ และการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งเชิญชวน ผู้พักอาศัยย่านหัวเวียงใต้ ประชาชนผู้สนใจทั่วไป ผ่านผู้นำชุมชน และสื่อวิทยุท้องถิ่น/ชุมชน รวมประมาณ 80 คน มีการจัดแสดงนิทรรศการและฉายวีดิทัศน์ความเคลื่อนไหวของโครงการที่ผ่านมาให้ผู้เข้าร่วมเวทีประชาคมได้ชม ในช่วงการเตรียมการจัดเวทีประชาคมครั้งที่ 3 คณะผู้วิจัยได้หารือแนวทางการจัดดำเนินการร่วมกับหัวหน้าบ้านชุมชนหัวเวียงใต้ นายบุญโชติ สลีอ่อน และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกค้อ รวม 25 ท่าน เพื่อให้ชุมชนแสดงบทบาทการเป็นเจ้าภาพและร่วมดำเนินงานมากขึ้น
นายบุญยัง เรือนกุล นายอำเภอเมืองน่าน
 
นางสุวมา เนาว์สูงเนิน
ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการทางสังคม ฝ่ายการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง
 
        การประชุมครั้งนี้มี นายบุญยัง เรือนกุล นายอำเภอเมืองน่าน และตัวแทนจากการเคหะแห่งชาติ นางสุวมา เนาว์สูงเนิน ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการทางสังคม ฝ่ายการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม จากนั้น นายพงษ์สิน ทวีเพชร หัวหน้าโครงการฯ ทบทวนภารกิจที่ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มต้น และนำเสนอ “แผน ผัง และรูปแบบเพื่อการพัฒนาพื้นที่โครงการฟื้นฟูเมืองการอยู่อาศัยในภูมิภาค ชุมชนเมืองน่าน” ใน 4 ประเด็นหลัก คือ
              1.     แผนงานรูปแบบรายละเอียดวัสดุ สถานที่
              2.     การจัดบริหารจัดการ: จัดตั้งกลุ่มกรรมการในชุมชน ใคร ทำอะไร และกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละโครงการ/กิจกรรม
              3.     การดำเนินงานก่อสร้าง: ออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา จัดซื้อ จัดจ้าง การควบคุมงาน
              4.     การตรวจรับงาน

ในงานการออกแบบและปรับปรุงกายภาพ ได้ระบุแผนงานที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้ปรากฏเป็นรูปธรรมก่อนสิ้นสุดโครงการ มีพื้นที่ค้อกลางเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งได้จากการทำเวทีประชาคมที่ผ่ามมา 2 ครั้ง และจากการรับฟังข้อหารือจากภาคีทุกภาคส่วนในการเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงทางด้านกายภาพ และแนวทางแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว อัคคีภัย ถนนซอยขนาดเล็ก รวมทั้งการเตรียมป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอื่นที่จะส่งผลกระทบต่อเมือง   โดยบูรณาการแผนงานงานร่วมกับภาครัฐและท้องถิ่น อาทิ เทศบาลเมืองน่าน พาณิชย์จังหวัดน่าน ประกอบแผนงาน 7 รายการ ดังนี้
     1.   งานปรับปรุงรูปแบบ (ทาสี ) เรือนร้านค้า อาคารพาณิชย์
     2.   งานปูวัสดุผิวถนนซอยชุมชนค้อกลาง
     3.   งานปรับปรุงภูมิทัศน์และงานรั้วสีเขียว
     4.   งานป้ายประวัติศาสตร์ชุมชน
     5.   งานปรับปรุงทางเดินเท้าหน้าวัดหัวเวียงใต้-ถนนซอย
     6.   งานกระถางไม้ประดับ
     7.   งานผ้าใบบังแดดอาคาร


สำหรับในครั้งนี้ คณะวิจัยต้องการให้ที่ประชุมพิจารณารายละเอียดแผนงาน 4 รายการ ในลำดับที่ 1- 4  และหาแนวทางในการบริหารจัดการดำเนินงานให้ยั่งยืน โดยแผนงานทั้ง 4 มี มทร.ล้านนารับผิดชอบเป็นผู้ออกแบบ จัดซื้อ จัดจ้าง และจะประสานความร่วมมือในการดำเนินงานกับคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ คาดหวังว่าความสำเร็จของโครงการนี้จะนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อให้พื้นที่อื่นได้เรียนรู้ดูงานต่อไป ส่วนการบูรณาการแผนงานร่วมกับท้องถิ่นจะร่วมกับเทศบาลเมืองน่านดำเนินการตามแผนงานงานปรับปรุงทางเดินเท้าหน้าวัดหัวเวียงใต้-ถนนซอย (รายการที่ 5) โดย นายสุรพล  เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน แสดงความเห็นว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดการรักษาตัวตนและความเป็นเมืองเก่าให้มีชีวิต และสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดแก่ชาวน่าน จึงเห็นควรว่าจะขอรับไปทำความเข้าใจกับสมาชิกสภาเทศบาลเมืองน่าน เพื่อพิจารณาขอจัดสรรงบประมาณปี 2556 ต่อไป ส่วนการร่วมกับหน่วยราชการจะร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและตัวแทนผู้ประกอบการย่านถนนสุมนเทวราชในงานกระถางไม้ประดับ และงานผ้าใบบังแดดอาคาร (รายการที่ 6-7)  โดย นายภาณุ  ขันธ์แก้ว พาณิชย์จังหวัดน่าน ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุน จำนวน 500,000 บาท ไว้รองรับ และมีความเห็นว่าแบบอาคารย่านหัวเวียงใต้ไม่ควรจะอนุญาตให้มีการก่อสร้างที่ทำให้เกิดทัศนอุจาด  ทั้งนี้ ตามแนวทางการชี้แนะของบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ซึ่งมีความเห็นว่าชุมชนต้องชัดเจนเรื่องกรอบคิดการพัฒนาเมืองเพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาข้อขัดแย้งในการของบประมาณ ในที่ประชุมกลุ่มย่อยเพิ่มเติมระหว่างคณะผู้วิจัยร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ตัวแทนภาครัฐ ชุมชน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
              นอกจากนี้ นายกนกศักดิ์  กองสาสนะ ตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ ได้บอกเล่าแนวทางการบริหารจัดการซึ่งขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ที่มีความเข้มแข็งจำนวน 25 ท่าน ทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองแผนงาน การดำเนินการต่อจากคณะวิจัย โดยเฉพาะแผนงานรายการที่ 1- 4 ของ มทร.ล้านนา ที่จะดำเนินงานลงมือทำในขั้นตอนต่อไปให้เห็นเป็นรูปธรรม

ในช่วงท้ายของการประชุมได้เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการท้องถิ่น ภาครัฐ เจ้าอาวาสวัดหัวเวียงใต้ได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการขั้นต่อไปรวมทั้งต่อการพัฒนาเมืองน่านโดยรวม สรุปประเด็นสำคัญดังนี้ 
·        ศักยภาพ ความเข้มแข็งของชาวน่าน เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การเคหะแห่งชาติเข้ามาผลักดันต่อยอดแผนการดำเนินงานจากแผนงานเดิมให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม แต่สิ่งสำคัญคือชุมชนควรลงมือทำด้วยตัวเองในทันทีบนฐาน “ความเป็นคนน่าน” ซึ่งเราต้องช่วยกันหาว่าสิ่งนี้คืออะไร มีความแตกต่างที่ไม่เหมือนที่อื่นอย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
·        บทบาทของคณะกรรมการพัฒนาชุมชนฯ ต่อจากนี้ไปต้องทำงานหนักเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนที่จะดำเนินการให้ถูกเวลา ถูกสถานที่ ถูกเรื่อง ซึ่งหมายถึงการทำให้เกิดการใช้งบประมาณที่สมประโยชน์ ทั้งพื้นที่ถนนสุมนเทวราชและพื้นที่ซอยตามที่นักวิชาการได้นำเสนอ ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาชุมชนฯ ต้องสร้างความเป็นเอกภาพ และให้ชุมชนมีความตระหนักและสำนึกเห็นความสำคัญของบ้านเก่า คือให้เกิดการรู้ เข้าใจ เชื่อ และศรัทธา และลงมือทำทันทีอย่างต่อเนื่อง
·        ภาระกิจอื่นของคณะกรรมการพัฒนาชุมชนฯ ที่ต้องดำเนินงานต่อไปมีอีกมากมายทั้งเรื่อง การปรับปรุงภูมิทัศน์ของวัดหัวเวียงใต้ การจัดทำพิพิธภัณฑ์ของเก่าในวัดหัวเวียงใต้
·        ถนนคนเดินเป็นการจัดงานเพื่อสร้างจุดขายแก่เมืองด้านการท่องเที่ยว และยังสามารถเป็นสถานที่พักผ่อนแก่ชาวเมือง แต่การดำเนินการควรจัดให้เป็นมาตราฐาน มีความแน่นอนชัดเจน และมาจากการหารือร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่สร้างความสับสนในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพราะต้องมีความแน่นอน ชัดเจน ที่สำคัญควรมีการสรุปบทเรียน (AAR) ทันทีหลังเสร็จกิจกรรม เพื่อนำมาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น และมีกระบวนการติดตามประเมินผลการทำงานทั้งโดยคนในและคนนอกพื้นที่
·        ประเด็นการเป็นเมืองมรดกโลกของเมืองน่านอาจกลายเป็นเรื่องน่าวิตก หากการเป็นมรดกโลกมีระเบียบ ข้อจำกัดที่กระทบต่อวิถีชีวิตของคนมากกว่าการเป็นเมืองเก่าที่มีความยืดหยุ่นและทำให้คนเมืองอยู่ได้อย่างสบายใจ
·        สิ่งที่เรากำลังทำขณะนี้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายใหญ่ ทั้งเรื่องความเป็นมรดกโลก เมืองเก่า งานวิจัยครั้งนี้จึงไม่ได้จบที่แผนงาน แต่จบที่การปฎิบัติการ การทำให้เกิดสิ่งใหม่ต้องทำให้สอดคล้องกับความเป็นมรดกโลก เชื่อมโยงกับกระแสโลก ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญใน 2 เรื่องคือ เอกลักษณ์ (Identity) และ ความหลากหลาย (Diversity) ความเป็นของแท้ ซึ่งในการดำเนินงานต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความสอดคล้อง และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยสรุป ตัวแทนแต่ละภาคส่วนมีความภาคภูมิใจในต้นทุนความเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของถนนสุมนเทวราช เพราะเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรที่มีสถานที่ที่มีคุณค่าหลายแห่ง ทั้งชาวจีน เวียดนาม ม่าน และคนเมือง ที่เคยเข้ามาค้าขายซึ่งสมควรนำเรื่องราวคำบอกเล่าในการสร้างบ้านแปงเมืองที่มีคุณค่ามาเรียงร้อยให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงสิ่งที่มีในอดีต  ประกอบกับความเข้มแข็งของชุมชนที่มีอยู่เดิม ขณะเดียวกันมีองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมที่ยื่นความจำนงเข้ามาช่วยเหลือและยินดีให้ความร่วมมือในการทำงาน แต่หัวใจสำคัญยังขึ้นกับชุมชนว่าจะมีความเข้มแข็งและดำเนินการต่ออย่างยั่งยืนหรือไม่เพียงใด โดยแนวร่วมที่เป็นเยาวชนเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรชักชวนมาเข้าร่วมให้มากขึ้น      
บทเรียนและข้อเสนอแนะจากการประชุม
1.     คณะกรรมการพัฒนาชุมชนฯ จะเข้ามามีบทบาทในขั้นตอนนี้อย่างมาก ในการผลักดันงานจากระดับล่างขึ้นสู่บนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ซึ่งหัวใจหลักคือการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ชุมชนดำเนินการเป็นงานตัวอย่างนำร่อง
2.     การจัดเวทีประชาคมครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุนและให้คำปรึกษา เพื่อหวังสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของงานให้เกิดแก่คนในชุมชน และเตรียมพร้อมที่จะดำเนินงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย ทำให้ชุมชนและคณะทำงานได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในการเชิญชวนผู้เข้าร่วมงาน สถานที่ ตลอดจนการกำหนดเวลาซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของย่านหัวเวียงใต้ แนวทางการจัดประชุมเช่นนี้น่าจะนำมาใช้ให้มากและถี่ขึ้นในโอกาสต่อไป
การผลักดันแผนงานไปสู่รูปธรรมต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือจากคนในพื้นที่โดยเฉพาะความพร้อมของผู้นำชุมชนและคณะกรรมการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ชุดใหม่ 25 ท่าน ซึ่งเกิดจากการคัดเลือกของคนภายในชุมชนเอง คณะผู้วิจัยเห็นว่าน่าจะช่วยให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมได้มากกว่าคณะกรรมการที่มาจากการสมัครใจซึ่งได้แต่งตั้งมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี พลังของการขับเคลื่อนจะเข้มแข็งต่อเนื่องและยั่งยืนเพียงใดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำและการทำงานร่วมกันเป็นทีม (teamwork) ของคนในชุมชนเป็นสำคัญ